แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นใหม่ไม่ถูกต้องขอให้ถือตามประเด็นที่กำหนดไว้เดิม หากศาลไม่อนุญาตก็ขอถือเอาคำร้องเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ต่อไป เมื่อศาลสั่งยกคำร้อง จำเลยหาได้โต้แย้งคำสั่งในเรื่องนี้อีกแต่อย่างใดไม่ ดังนี้ จะถือเอาคำร้องของจำเลยเป็นคำโต้แย้งไม่ได้จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหานี้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องนี้ให้จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบแม้จำเลยจะฎีกาต่อมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
ชั้นชี้สองสถานเดิม ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ต่อมามีคำสั่งยกเลิกการชี้สองสถานเดิม และกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นถือประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้เดิม หากศาลไม่อนุญาตก็ขอให้ถือคำร้องนี้เป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ต่อไป ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต และดำเนินการสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและตึกแถว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้งสองเรื่อง จำเลยฎีกาเป็นสองเรื่อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับฎีกาของจำเลยเรื่องแรกที่ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นที่จะต้องนำสืบตามที่กำหนดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 31 มีนาคม 2524 นั้น เห็นว่า จำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2524 ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลที่กำหนดประเด็นใหม่เหลือเพียงสองประเด็น ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดประเด็นตามรายงานกระบวนพิจารณาวันชี้สองสถานวันที่ 31 มีนาคม 2524 โดยมีข้อความต่อท้ายว่า หากศาลไม่อนุญาต จำเลยขอถือเอาคำร้องนี้เป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ต่อไป และเมื่อศาลมีคำสั่งในวันที่ 24 มิถุนายน 2524 ว่า “ศาลตั้งประเด็นไว้ถูกต้องแล้วไม่มีเหตุจะแก้ไขใหม่อีก ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” จำเลยก็หาได้โต้แย้งคำสั่งศาลในเรื่องนี้อีกแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น จะถือเอาคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2524 เป็นคำโต้แย้งไม่ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 819/2501 คดีระหว่างนายนรินทร์ ปูตะวนัช โจทก์ นางกมล วรรณอาภาจำเลย เมื่อเป็นดังนี้จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องนี้ให้จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะฎีกาต่อมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของจำเลยอีกเรื่องหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่านายประจวบ โพธิ ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและค่าเสียหายสูงเกินสมควรนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงมีปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิที่จะฎีกาได้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องเพียงเดือนละ 60 บาท แม้โจทก์จะเรียกค่าเสียหายโดยกล่าวว่า โจทก์อาจให้เช่าเดือนละ 7,000 บาท แต่ขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ 5,000 บาทนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะออกจากตึกพิพาท โดยโจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น หากแต่เรียกร้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อจำเลยไม่ได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าจำเลยจึงอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224, 248 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
สำหรับฎีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิมเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12 นั้น แม้จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้เช่นเดียวกัน จึงไม่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสองเรื่อง ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ