คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11912/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยาม “ค่าจ้าง” หมายความว่า “เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น…” ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระบุเรื่องค่าจ้างและการจ่ายค่าจ้างไว้ในข้อ 3 และระบุค่าเบี้ยเลี้ยงไว้ในข้อ 3.2 เพียงว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ปฏิบัติงานบนเรือเป็นอัตราแน่นอนทุกเดือนระหว่างออกไปปฏิบัติงาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายเรือทำงานประจำบนเรือจะต้องปฏิบัติงานที่อื่นใดนอกจากบนเรือดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายโจทก์จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นรายเดือน การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้างเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วโจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,200 บาท จึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างคราวละ 6 เดือน การนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 บัญญัติว่า “การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตามให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น” ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งนายเรือตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2547 โดยทำสัญญาจ้างแรงงานช่วงเวลาละ 6 เดือนต่อเนื่องกันอีก 6 ช่วง ซึ่งการทำสัญญาจ้างแรงงานในลักษณะดังกล่าวทำให้โจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่ติดต่อกัน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้ไม่เท่าสิทธิตามที่บัญญัติในมาตรา 118 จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิในค่าชดเชยของโจทก์ตามมาตรา 20 การที่ศาลแรงงานกลางนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์ทุกช่วงเข้าด้วยกัน เห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) จึงชอบแล้ว แต่ในส่วนของการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์นำเรือกลับถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือข้อ 2 เช่นนี้ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นคนประจำเรือตำแหน่งนายเรือ ซึ่งในวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างอาจเป็นวันที่โจทก์ยังนำเรือกลับมาไม่ถึงกรุงเทพมหานคร เพราะเรือยังอยู่ในความควบคุมของโจทก์ การที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าการเดินทางกลับมาไม่ถึงมิให้เป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างครบกำหนดเมื่อเรือเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตกเป็นโมฆะแต่ประการใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีที่โจทก์นำเรือกลับมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเป็นการเลิกจ้างเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 157,173.33 บาท ค่าชดเชยจำนวน 438,533.33 บาท และค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 252,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวทุกจำนวนอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งนายเรือ มีกำหนดระยะเวลาจ้าง 6 เดือน และได้ต่อสัญญาจ้างไปอีกครั้งละ 6 เดือน รวม 6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2546 แล้วจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2547 ในการทำงานจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 80,000 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนในระหว่างที่ปฏิบัติงานบนเรือ แล้ววินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การที่จำเลยให้โจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกันถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่ให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงต้องนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกัน จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ 30 เมษายน 2547 แต่ให้โจทก์ทำงานถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 157,173.33 บาท และค่าชดเชยจำนวน 438,533.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 กรกฎาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยก่อน โดยจำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้โจทก์วันละ 140 บาท นั้น เป็นผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จ่ายกันเป็นครั้งคราวเพราะวันหยุดวันลาลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับ จึงมิใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยาม “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น…” ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระบุเรื่องค่าจ้างและการจ่ายค่าจ้างไว้ในข้อ 3 และระบุเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยงไว้ในข้อ 3.2 เพียงว่า “ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท” ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ปฏิบัติงานบนเรือเป็นอัตราแน่นอนทุกเดือนระหว่างออกไปปฏิบัติงาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายเรือทำงานประจำบนเรือกิมจิ่งจะต้องปฏิบัติงานที่อื่นใดนอกจากบนเรือดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายโจทก์จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นรายเดือน การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้าง เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วโจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,200 บาท จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างกันคราวละ 6 เดือน การนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20 บัญญัติว่า “การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น” ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งนายเรือตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2547 โดยทำสัญญาจ้างแรงงานช่วงเวลาละ 6 เดือนต่อเนื่องกันอีก 6 ช่วง ซึ่งการทำสัญญาจ้างแรงงานในลักษณะดังกล่าวทำให้โจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่ติดต่อกัน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้ไม่เท่าสิทธิตามที่บัญญัติในมาตรา 118 จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิในค่าชดเชยของโจทก์ตามมาตรา 20 การที่ศาลแรงงานกลางนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์ทุกช่วงเข้าด้วยกันแล้วเห็นว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (3) จึงชอบแล้ว แต่ในส่วนของการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า ในระหว่างที่โจทก์ทำงานตามสัญญาจ้างคนประจำเรือฉบับสุดท้าย จำเลยให้โจทก์นำเรือไปส่งสินค้าต่างประเทศ โจทก์นำเรือกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2547 เกินกำหนดระยะเวลาตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้มีระยะเวลาการทำงาน 6 เดือน นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2546 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 เมษายน 2547 แต่ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือข้อ 2 วรรคสอง ก็ได้ระบุว่าในกรณีเรือที่ลูกจ้างทำงานเดินทางกลับมาถึงเมืองท่ากรุงเทพมหานครภายหลังวันครบกำหนดสัญญาจ้าง มิให้ถือว่าเป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง หรือเป็นการจ้างโดยมิได้กำหนดเวลาแต่อย่างใด กำหนดระยะเวลาการทำงานตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นได้สองกรณีคือระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาหรือหากในวันครบกำหนดอายุสัญญาจ้าง ลูกจ้างยังอยู่ระหว่างการทำงานบนเรือนอกท่าก็ให้ครบกำหนดในวันที่เดินทางกลับมาถึงท่าเรือที่กรุงเทพมหานคร เมื่อโจทก์นำเรือกลับถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือข้อ 2 ดังกล่าว สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน และสัญญาข้อ 2 วรรคสอง ขัดกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงเป็นโมฆะ เห็นว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นคนประจำเรือตำแหน่งนายเรือ ซึ่งในวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างอาจเป็นวันที่โจทก์ยังนำเรือกลับมาไม่ถึงกรุงเทพมหานคร เพราะเรือยังอยู่ในความควบคุมของโจทก์ การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่าการเดินทางกลับมาไม่ถึงมิให้เป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างครบกำหนด เมื่อเรือเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและตกเป็นโมฆะแต่ประการใด ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีที่โจทก์นำเรือกลับมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเป็นการเลิกจ้างเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง จึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share