คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าได้ทำงานไป2เดือนเป็นเงิน1ล้านบาทซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ข้อ3แล้วว่ากำหนดงวดละ30วันส่วนที่ว่าโจทก์ได้ใช้จ่ายอะไรไปบ้างก็ดีได้เนื้องานเท่าใดก็ดีเป็นรายละเอียดที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านี้นั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้ว สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1เป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา587ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1เลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยที่1ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391วรรคหนึ่งแต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานถางป่าให้จำเลยที่1แล้วจึงไม่อาจให้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้กรณีต้องบังคับตามมาตรา391วรรคสามที่บัญญัติว่า”ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืนท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นไว้”ดังนั้นจำเลยที่1และที่2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่1จะต้องร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์แทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างโครงการเพราะเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อย เขตที่ 2 สถานีประมงน้ำกร่อย จังหวัดกระบี่ ตามรายละเอียดของการก่อสร้าง สถานีก่อสร้างและราคาค่าจ้างแนบท้ายสัญญาให้ถูกต้องตามแบบ รูป และรายละเอียดตามสัญญาที่ 123/2533 ลงวันที่25 พฤษภาคม 2533 ระหว่าง กรมประมงกับห้างหุ้นส่วนจำกัดวิวัฒน์ก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวกับงานนี้เป็นเงินค่าจ้างรวม44,325,155 บาท กำหนดทำงานแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน2534 รายละเอียดปรากฎตามสำเนาสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างท้ายฟ้องหลังจากนั้นโจทก์ก่อสร้างประมาณ 2 เดือน เสียค่าใช้จ่าย 2,000,000บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินค่าจ้างและไม่จัดหาธนาคารมาค้ำประกันการจ่ายเงินตามสัญญาโจทก์ทวงถาม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติ โจทก์จึงหยุดก่อสร้างและบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย แต่จำเลยที่ 1ไม่จ่าย จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน26,712 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,026,712 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างจริง แต่โจทก์ทำงานล่าช้าและไม่ถูกต้องตามแบบในสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบงานต่อกรมประมง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์จะมีสิทธิรับเงินได้ต่อเมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างของกรมประมงตรวจรับมอบงานแล้ว และภายใน 20 วัน นับแต่นั้น จำเลยที่ 1 จึงจะจ่ายเงินแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงาน จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์หรือจัดหาธนาคารมาค้ำประกันการจ่ายเงินค่าจ้างจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ถ้าจะรับผิดก็รับผิดไม่เกิน 200,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปนั้นเป็นค่าอะไรบ้าง และได้เนื้องานอะไรบ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน309,896.85 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 504,948.42 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2533จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างโครงการเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อย เขตที่ 2 สถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดกระบี่ โดยกรมประมงเป็นผู้ว่าจ้างงานก่อสร้าง เลขที่ 123/33ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ว่าจ้างเหมาะช่วงให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างปรากฎตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 ตามสัญญาข้อ 3 ระบุการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างว่า ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างเป็นรายงวดตามปริมาณงานที่ผู้รับจ้างทำจริงในแต่ละงวดที่ผู้ว่าจ้างส่งมอบงานให้กรมประมง ต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบงานถางป่าให้จำเลยทั้งสองแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์เพราะอยู่่ในระหว่างจำเลยทั้งสองส่งมอบงานให้กรมประมงตรวจรับงานอยู่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองต่อมาจำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทำงานไม่เสร็จเรียบร้อย จึงได้ทำงานต่อจนเสร็จเรียบร้อย และข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองประการแรกมีดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างเหตุว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าได้ทำการก่อสร้างนานประมาณ 2 เดือน สิ้นค่าใช้จ่ายไปประมาณ 2 ล้านบาท และโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญามาโดยตลอด สิ้นคาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายนั้นเป็นค่าอะไรบ้าง ทำงานได้เนื้องานแค่ไหน เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าได้ทำงานไป 2 เดือน เป็นเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อ 3 แล้วว่ากำหนดงวดละ 30 วัน ส่วนที่ว่าโจทก์ได้ใช้จ่ายอะไรไปบ้างก็ดีได้เนื้องานเท่าใดก็ดี เป็นรายละเอียดที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
ปัญหาประการที่สองมีว่า โจทก์ควรได้ค่าจ้างถางป่าเป็นเงินเท่าใด เห็นว่า สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1 เลิกกันตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม” เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานถางป่าให้จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจให้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ ซึ่งตามมาตรา 391 วรรคสามบัญญัติว่า “ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืนท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ” ดังนี้จำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกันใช้เงินแทนและศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ถางป่าให้จำเลยที่ 1 เป็นเนื้อที่ 103,298,958 ตารางเมตร แล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3สำหรับปริมาณงานที่ว่าจ้างให้โจทก์ทำการก่อสร้างพร้อมทั้งราคาเป็นไปตามรายละเอียดราคางานแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2คือเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.2 ระบุว่างานถางป่าตารางเมตรละ 1.50 บาท โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1 จำนวน103,298.958 ตารางเมตร คิดเป็นเงิน 154,948.42 บาท
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า งานขุดลอกหน้าดินของโจทก์มีราคาเพียงใด ฎีกาของโจทก์อ้างเหตุว่า งานขุดลอกหน้าที่ดินของโจทก์เป็นเงิน 600,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 350,000 บาท คงขาดอีก250,000 บาท ฝ่ายจำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า งานขุดลอกหน้าดินจำเลยที่ 1 ยังไม่ส่งมอบให้กรมประมง จึงไม่อาจทราบได้ว่างานดังกล่าวถูกต้องตามแบบ และรายการที่กรมประมงกำหนดหรือไม่ จังยังไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์ เห็นว่าโจทก์ได้ขุดลอกหน้าดินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจริง แม้มิได้ส่งมอบงานให้กรมประมงตรวจรับ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่คำนวณงานเป็นเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม มิใช่กำหนดให้ตามสัญญาเพราะสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เลิกกันแล้ว เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำงานให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าตอบแทนงานส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน 350,000 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share