คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11865/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่า จะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทัน แล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญ หรือแสดงท่าทีใดๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟันหรือแทงประทุษร้ายหากขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกตามที่ได้ความดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยกับพวกไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาชิงทรัพย์ ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้าและมิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ ศาลลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ คงลงโทษฐานลักทรัพย์ อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 91, 339, 340 ตรี, 371 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6465/2549 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธมีดปลายแหลมของกลาง กับให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืนพร้อมจี้ทองคำให้แก่ผู้เสียหายหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 6,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิด จำคุก 18 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับ 90 บาท รวมจำคุก 18 ปี และปรับ 90 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 ปี และปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5816/2550 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธมีดปลายแหลมของกลาง กับให้จำเลยร่วมกันคืนสร้อยคอทองคำบางส่วนพร้อมจี้ทองคำที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืนแก่ผู้เสียหายหรือใช้ราคาทรัพย์แทนเป็นเงิน 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 4 ปี รวมกับโทษปรับ 60 บาท ฐานพาอาวุธโดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว คงจำคุก 4 ปี และปรับ 60 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ถึงที่สุดไปแล้ว คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกชิงทรัพย์ผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อลักทรัพย์แล้ว ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า ในคืนเกิดเหตุ ขณะผู้เสียหายกำลังเดินตามถนนเอกชัยเพื่อไปทำงาน จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์อย่างช้าๆ ตามไปทางด้านหลัง เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณหน้าบริษัทไทเทคนิคพลาส จำกัด พวกของจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายได้ถามผู้เสียหายว่า เจ๊จะรีบไปไหน ผู้เสียหายเห็นที่มือพวกของจำเลยคนดังกล่าวมีมีดถืออยู่ก็ตกใจและวิ่งหนี พวกของจำเลยกระโดดลงจากรถวิ่งไล่ตามไปทันและกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมจี้ทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่จนขาดติดมือแล้ววิ่งกลับไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับรออยู่หลบหนีไป โดยมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้วาจาขู่เข็ญผู้เสียหายแต่อย่างใด เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่า จะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทัน แล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญ หรือแสดงท่าทีใดๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟันหรือแทงประทุษร้ายหากขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกตามที่ได้ความจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมลักทรัพย์สร้อยคอทองคำและจี้ทองคำของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายพาหนีไปซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์มาด้วย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์และลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ซึ่งเป็นความผิดที่เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share