แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยต่างมีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่จะขอจดทะเบียนใช้อักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน” เป็นเครื่องหมายการค้า กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ทั้งสองฝ่ายได้ ดังนั้นแม้จำเลยจะได้ใช้สิทธิจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าแล้วโจทก์ก็ยังมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสิทธิตามสัญญาอยู่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้ง สิทธิโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า นายโต๊ะเซี้ยง แซ่เล้าบิดาโจทก์เป็นพี่ชายจำเลยที่ ๒ ทำการค้าสุรายาด้วยกันต่างใช้ชื่อยี่ห้อและเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรจีนว่า “เล่างี่ชุน” ต่อมาบิดาโจทก์และจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๖๒-๔๖๓/๒๕๐๒ ว่าบิดาโจทก์และจำเลยที่ ๒ มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อ “เล่างี่ชุน” ในการค้าของแต่ละฝ่ายแต่ละคนได้โดยเสรี และแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะนำคำว่า “เล่างี่ชุน” ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าได้ทั้งสองฝ่ายศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมและเป็นผู้จัดการมรดกตลอดถึงกิจการและสิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าและเครื่องหมายการค้าหลายเครื่องหมายที่มีอักษรจีนว่า “เล่างี่ชุน” นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโอนให้โจทก์ทั้งหมด จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนเอาบุตรของจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๑ ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกสุรายา มีคำอักษรภาษาจีนว่า “เล่างี่ชุน” อยู่ด้วย โจทก์ยื่นคำคัดค้านต่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ขอให้สั่งจำเลยที่ ๑ ให้จดแจ้งข้อความไว้ด้วยว่า ไม่ขอถือสิทธิใช้คำ “เล่างี่ชุน” นั้นแต่ผู้เดียว ผู้รับโอนสิทธิจากนายโต๊ะเซี้ยง แซ่เล้ามีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๓ เห็นว่าไม่จำต้องให้จำเลยที่ ๑ แสดงปฏิเสธเช่นนั้นเป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะปฏิบัติต่อกันตามสัญญาได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ที่จะสั่งให้คู่สัญญาปฏิบัติตามสัญญา การที่จำเลยที่ ๑ ขอจดทะเบียนดังกล่าวทำให้โจทก์ผู้รับโอนสิทธิจากนายโต๊ะเซี้ยงเสียหาย จำเลยที่ ๓ รับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ โดยไม่รับฟังคำคัดค้านของโจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ขอให้พิพากษายกเลิกคำสั่งจำเลยที่ ๓ที่สั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้อักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน” ไม่ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในอักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน”
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า สัญญาประนีประนอมระหว่างนายโต๊ะเซี้ยง แซ่เล้า กับจำเลยที่ ๒ ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑บุคคลภายนอก เครื่องหมายการค้าเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดถึงโจทก์ทายาท การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยสั่งให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ ๑ก่อนที่นายโต๊ะเซี้ยง แซ่เล้า ถึงแก่ความตาย นายโต๊ะเซี้ยงไม่คัดค้านถือว่านายโต๊ะเซี้ยงได้สละสิทธิตามสัญญาแล้ว คำสั่งจำเลยที่ ๓ กระทำไปโดยชอบ
ในวันนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยเสีย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่จำเลยที่ ๒ มิได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ไม่มีเหตุจะต้องบังคับจำเลยที่ ๒ และพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้สั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้อักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน” ถือสิทธิได้แต่ผู้เดียวตามคำขอของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ให้จำเลยที่ ๑ ขอสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ใช้อักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน” แต่ผู้เดียวต่อนายโต๊ะเซี้ยง แซ่เล้าและผู้รับโอนสิทธิจากนายโต๊ะเซี้ยง แซ่เล้า คำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่ตนมีสิทธิ ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายจำเลยที่ ๒ดังข้อความที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความตามคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๖๒-๔๖๓/๒๕๐๒ ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต่างมีสิทธิตามสัญญานั้นที่จะใช้อักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน” เป็นเครื่องหมายการค้าด้วยกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิตามสัญญาที่จะจดทะเบียนคำว่า “เล่างี่ชุน”เป็นเครื่องหมายการค้าได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามสัญญาที่จะขอจดทะเบียนใช้อักษรจีนคำว่า “เล่างี่ชุน” เป็นเครื่องหมายการค้ากรณีจึงต้องด้วยมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช ๒๔๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๕ ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ทั้งสองฝ่ายได้ จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าตามสัญญา โจทก์ก็ยังมีสิทธิตามสัญญาอยู่เช่นเดียวกัน จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิจะบังคับจำเลยที่ ๑ ให้กระทำนอกเหนือสัญญา
พิพากษายืน