คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ5บาทเพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ได้จัดอาหารราคาถูกให้ดังเช่นลูกจ้างที่ทำงานกลางวันแม้โจทก์จะจ่ายให้เป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริงก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติไม่เป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533มาตรา5สำนักงานประกันสังคมจำเลยที่2จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินช่วยเหลือค่าอาหารดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณเงินสมทบ โจทก์ส่งเงินสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคมจำเลยที่2แล้วเมื่อปรากฏในภายหลังว่าคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่จำเลยที่2ไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องคืนเงินให้แก่โจทก์เมื่อไม่ยอมคืนให้จนโจทก์ต้องฟ้องบังคับจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจด้านผลิตเม็ดพลาสติกสถานประกอบการอยู่ที่จังหวัดระยอง ลูกจ้างของโจทก์มี 2 ประเภทคือ 1. พนักงานทั่วไปได้แก่ พนักงานซึ่งปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา เวลาพัก 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกาวันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ 2. พนักงานกะได้แก่ พนักงานที่โจทก์มอบหมายให้ปฏิบัติงานเป็นกะ กำหนดเวลาทำงานวันละ 2 กะ ทำงานกะละไม่เกิน 8 ชั่วโมง กะเช้าตั้งแต่เวลา 6.30 นาฬิกา ถึง 18.30 นาฬิกา กะดึกตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกาถึง 6.30 นาฬิกา โจทก์จัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างของโจทก์หลายอย่างเกี่ยวกับสวัสดิการเรื่องอาหารโจทก์ให้บุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการจัดอาหารเช้าและกลางวันแก่ลูกจ้างของโจทก์เฉพาะลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปและพนักงานกะเช้าเท่านั้น ส่วนพนักงานกะดึกหรือพนักงานทั่วไปที่จะต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกาเป็นต้นไป โจทก์จัดสวัสดิการเป็นเงินช่วยเหลือค่าอาหารชั่วโมงละ5 บาท โดยเรียกว่า ค่ากะดึก เงินดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหน่วยงานให้สังกัดของจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์นำเงินช่วยเหลือที่โจทก์จ่ายเป็นสวัสดิการดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537มารวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานคำนวณในการส่งเงินสมทบ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โจทก์ได้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537 จำนวน 6,993.25 บาท ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ดำเนินการส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มที่ได้มีคำสั่งมาแล้วและที่จะมีคำสั่งต่อไป กับบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 6,,993.25 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เงินค่ากะดึกที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ที่มาทำงานจริงในช่วงระหว่างเวลา 18.30 นาฬิกาถึง 6.30 นาฬิกา ชั่วโมงละ 5 บาท นั้น เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในช่วงเวลาทำงานปกติเพิ่มจากค่าจ้างปกติที่ลูกจ้างได้รับอยู่แล้ว ประกอบกับนายจ้างได้จ่ายให้เป็นการประจำและจำนวนที่แน่นอน โดยจ่ายให้ตามสัดส่วนชั่วโมงที่ลูกจ้างมาทำงานจริงมิได้จ่ายให้เป็นครั้งคราว จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 นายจ้างจะต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเป็นฐานในการหักและส่งเงินสมทบตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 46 และมาตรา 47โจทก์ได้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537 รวมจำนวน 6,993.25 บาท ตามคำสั่งจึงถือได้ว่าโจทก์ยอมรับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินช่วยเหลือซึ่งโจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประเภทพนักงานกะดึกหรือผู้ถูกเรียกตัวมาปฏิบัติงานหรือพนักงานทั่วไปที่ต้องทำงานล่วงเวลา 18.30 นาฬิกา ในอัตราชั่วโมงละ 5 บาท นั้น แม้โจทก์จะจ่ายให้โดยคำนวณตามระยะเวลาจำนวนแน่นอนตามสัดส่วนชั่วโมงที่ลูกจ้างทำงานจริง แต่ไม่ใช่จ่ายให้เป็นประจำแก่ลูกจ้างทุกคนเพื่อการตอบแทนในวันละเวลาทำงานปกติ ทั้งยังเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งทำงานหลังเวลา 18.30 นาฬิกา เพื่อทดแทนที่โจทก์ไม่สามารถจัดหาร้านอาหารมาจำหน่ายในราคาถูกเหมือนลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปและพนักงานกะกลางวันเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างที่จะต้องส่งเงินสมทบให้จำเลยที่ 2การที่โจทก์ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมกราคม 2537ถึงเดือนธันวาคม 2537 ให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองเท่านั้นจะถือว่าโจทก์ยอมรับคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองไม่ได้ จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หนี้เงินนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอคิดดอกเบี้ยนับแต่เมื่อใด เห็นสมควรกำหนดให้คิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่จะมีต่อไปนั้นไม่อาจสั่งเพิกถอนให้ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังไม่ได้มีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์ดำเนินการส่งมอบเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 6,993.25 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นให้ยก
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ให้เงินสนับสนุนร้านค้าเดือนละ 15,000 บาท เพื่อนำอาหารราคาถูกมาจำหน่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ เฉพาะลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปที่ทำงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกาและลูกจ้างประเภทพนักงานกะเช้าที่ทำงานตั้งแต่เวลา 6.30 นาฬิกาถึง 18.30 นาฬิกา เท่านั้น ส่วนพนักงานกะดึกที่ทำงานตั้งแต่เวลา18.30 นาฬิกา ถึง 6.30 นาฬิกา และลูกจ้างอื่น ๆ ที่ทำงานล่วงเวลาหลังเวลา 18.30 นาฬิกา โจทก์ให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารในอัตราชั่วโมงละ 5 บาท เนื่องจากลูกจ้างที่ทำงานในรอบกลางคืนไม่มีร้านอาหารจัดอาหารราคาถูกจำหน่ายให้ ต่อมาสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองแจ้งให้โจทก์ทราบว่า เงินซึ่งโจทก์จ่ายช่วยเหลือเป็นค่าอาหารดังกล่าวเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณในการส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537จำนวน 6,993.25 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ได้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวให้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2เรียบร้อยแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยทั้งสองว่า เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารซึ่งโจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ 5 บาท เป็นค่าจ้างหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความรับกันว่า เหตุที่โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ 5 บาทเนื่องจากโจทก์ไม่ได้จัดอาหารราคาถูกให้ลูกจ้างดังเช่นลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปที่ทำงานกลางวันและพนักงานกะเช้า นอกจากนี้โจทก์ยังจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานทั่วไปที่ทำงานเวลากลางวันหากต้องมาทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาหลัง 18.30 นาฬิกา นอกเหนือจากค่าล่วงเวลาอีกด้วย เห็นได้ว่า การที่โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้เป็นเงินสวัสดิการแก่ลูกจ้างโดยแท้แม้เงินดังกล่าวโจทก์จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริงชั่วโมงละ 5 บาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้นไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่าเป็นเงินช่วยเหลือค่าอาหาร หรือเงินค่ากะดึกเงินดังกล่าวก็ไม่เป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 จำเลยที่ 2จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินช่วยเหลือค่าอาหารดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณเงินสมทบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 พิจารณาและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบจะเป็นการใช้ดุลพินิจและพิจารณาตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินจำนวน 6,993.25 บาท ไปชำระตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏในภายหลังว่าคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้จนโจทก์ต้องฟ้องบังคับเช่นนี้ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องจากจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share