คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีของโจทก์เป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงจึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางเงินประกันค่าอากรอีกส่วนหนึ่งได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้วต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มโจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มเติมตามที่ได้รับแจ้งการประเมินการชำระค่าอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับสินค้าแล้วจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา10วรรคห้าดังนั้นการที่โจทก์ได้ชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แม้โจทก์จะมิได้สงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้องจำเลยก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่ากับที่โจทก์ได้ชำระให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ0.625ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา112จัตวาวรรคท้ายดังนั้นคดีนี้โจทก์ฟ้องขอเรียกเงินอากรขาเข้าที่ชำระไว้เดิมพร้อมดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสียนับแต่วันชำระอากรขาเข้าโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คดีนี้โจทก์ได้ชำระเงินอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินการชำระเงินค่าอากรเพิ่มดังกล่าวเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้วกรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา10วรรคห้าดังนั้นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุใดที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา10วรรคห้าเช่นกันเพราะขณะที่โจทก์รับมอบสินค้าจากกรมศุลกากรนั้นโจทก์ยังมิได้เสียอากรตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนแต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องโจทก์จำเลยปฏิบัติพิธีการศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา112และมาตรา112ทวิกล่าวคือเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและตัวแทนของโจทก์จึงตกลงให้ชำระอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง29ฉบับและให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ประเมินอากรเพิ่มภายหลังจากที่ได้รับมอบสินค้าแล้วประมาณ1เดือนซึ่งกรณีดังกล่าวพระราชบัญญัติศุลกากรมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องใช้อายุความตามบทบัญญัติทั่วไปมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30(มาตรา164เดิม) หลักเกณฑ์การประเมินตามคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่8/2530ข้อ2.3ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดต่อรายที่พิจารณาราคาภายในระยะเวลาไม่เกิน3เดือนกับคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่47/2531ข้อ1.5ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน3เดือนและตามคำสั่งกค0614(ก)/8024ลงวันที่25กรกฎาคม2532ที่กำหนดให้สินค้าก๊าซเอทธีลีนเหลวเป็นสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวเร็วประกอบคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่8/2530ข้อ2.2ที่ระบุว่าของที่ราคาเคลื่อนไหวเร็วซึ่งกองพิธีการและประเมินอากรร่วมกับกองวิเคราะห์ราคาได้พิจารณากำหนดชนิดของนั้นๆไว้ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาระยะเวลาไม่เกิน1เดือนเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินอากรนั้นเป็นเพียงแนวทางให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้สำหรับพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยเปรียบเทียบราคากับผู้นำเข้ารายก่อนเท่านั้นดังนั้นการที่จำเลยนำสืบแสดงหลักฐานว่าราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทชนิดเดียวกันจากแหล่งประเทศกำเนิดเดียวกันโดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินราคาที่โจทก์เคยนำเข้าโดยให้ใช้ราคาสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาราคาภายในระยะเวลาไม่เกิน3เดือนหรือ1เดือนเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินอากรเมื่อโจทก์จำเลยรับกันว่าสินค้าก๊าซเอทธิลีนเหลวเป็นสินค้าที่มีราคาเคลื่อนไหวเร็วมีการเปลี่ยนแปลงราคาเดือนละ3ถึง4ครั้งจึงเป็นการไม่แน่นอนว่าราคาสินค้าที่เคยนำเข้าสูงสุดย้อนหลังไม่เกิน3เดือนหรือ1เดือนที่จำเลยใช้เป็นเกณฑ์ประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา2ส่วนโจทก์นำสืบแสดงว่าราคาก๊าซเอทธิลีนเหลวขึ้นลงเร็วก่อนโจทก์สั่งซื้อจะต้องสอบถามราคาจากผู้ผลิตและข่าวสารทั่วโลกแหล่งข่าวสารที่โจทก์ติดตามประจำคือไอ.ซี.ไอ.เอส.(IndenpendentChemicalInformationService)ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของราคาก๊าซเอทธิลีนเหลวทั่วโลกราคาของก๊าซเอทธิลีนเหลวมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ของตลาดเฉลี่ยเดือนละ3ครั้งราคาที่โจทก์จัดซื้อเมื่อเทียบเคียงราคาจากข่าวสารจะใกล้เคียงระดับเดียวกันการซื้อโจทก์ชำระราคาโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมีใบกำกับสินค้าแสดงราคาสินค้าสัญญาซื้อขายพร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินของธนาคารเป็นหลักฐานจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งว่าพยานหลักฐานที่โจทก์สำแดงราคาสินค้าตามที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าและใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง29ฉบับที่โจทก์ซื้อมาและชำระราคาไปแล้วนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรฉะนั้นราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับจึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 62 ถึง 90 ของจำเลยทั้งหมดให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน 32,967,327.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดถึงวันฟ้องจำนวน 10,756,885.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น43,724,213.04 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 32,967,327.79 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกคืนอากรขาเข้าตามที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและตรวจพบปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นเกินจากสำแดง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ประเมินอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นการเรียกร้องขอคืนอากร เพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิดคุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักหรือราคาแห่งของใดหรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ซึ่งตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า มิให้พิจารณาคำเรียกร้องขอคืนหลังจากที่โจทก์ได้เสียอากรและได้ส่งมอบสินค้าที่นำเข้าให้แก่โจทก์ไปแล้วและโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยก่อนการส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ว่า โจทก์จะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากร ทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยก็ไม่พึงรู้อยู่ก่อนส่งมอบว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบ ซึ่งตามใบขนสินค้าจำนวน 29 ฉบับ โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยก่อนการส่งมอบสินค้าว่าจะขอคืนอากรไว้แต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้องอย่างถูกต้องภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้และได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จำนวนอากรที่หากจะต้องคืนให้แก่โจทก์และดอกเบี้ยจำนวน 42,778,632.77 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 62 ถึง 90 ให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าจำนวน 42,778,632.77 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 32,156,823.19 บาท นับแต่วันที่14 พฤษภาคม 2536 วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 29 ฉบับ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรือแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า จะขอคืนอากรก่อนมีการส่งมอบสินค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 เห็นว่า กรณีของโจทก์เป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดง จึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางเงินประกันค่าอากรอีกส่วนหนึ่ง ได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มโจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแจ้งการประเมิน การชำระค่าอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า การที่โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้โจทก์จะมิได้สงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืน ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้อง จำเลยก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่ากับที่โจทก์ได้ชำระให้แก่โจทก์ และตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาวรรคท้าย ก็บัญญัติว่า “ในกรณีที่ต้องคืนเงินอากรหรือเงินค่าประกันอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันพึงเสียหรือเสียเพิ่มให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้าย” คดีนี้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสียนับแต่วันชำระอากรขาเข้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า กรณีการขอคืนอากรของโจทก์เป็นกรณีตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ซึ่งนอกจากโจทก์จะต้องโต้แย้งแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า จะขอคืนอากรก่อนส่งมอบของแล้วโจทก์ยังจะต้องฟ้องขอคืนอากรภายในเวลา 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าด้วย เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า โจทก์ได้ชำระเงินอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินการชำระเงินค่าอากรเพิ่มดังกล่าวเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคห้า เช่นกัน เพราะขณะที่โจทก์รับมอบสินค้าจากกรมศุลกากรนั้นโจทก์ยังมิได้เสียอากรตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องเรียกคืน แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องโจทก์จำเลยปฏิบัติพิธีการศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 และมาตรา 112 ทวิ กล่าวคือ เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและตัวแทนของโจทก์จึงตกลงให้ชำระอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 29 ฉบับและให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ประเมินอากรเพิ่มภายหลังจากที่ได้รับมอบสินค้าแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งกรณีดังกล่าวพระราชบัญญัติศุลกากรมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความตามบทบัญญัติทั่วไปมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 (มาตรา 164 เดิม)ดังนั้นคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประเด็นต้องวินิจฉัยในข้อนี้คือจะถือเอาราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 29 ฉบับ ซึ่งเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือถือเอาราคาที่จำเลยประเมินเพิ่มเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยอ้างว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าโดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินตามคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 8/2530 ข้อ 2.3 ที่ให้ใช้ราคาสูงสุดต่อรายที่พิจารณาราคาภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 3 ถึง 6 กับคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่47/2531 ข้อ 1.5 ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 3 เดือน ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 7 ถึง 13 และตามคำสั่ง กค 0614(ก)/8024 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2532 ที่กำหนดให้สินค้าก๊าซเอทธิลีนเหลวเป็นสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวเร็วตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 34 ประกอบคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 8/2530 ข้อ 2.2 ที่ระบุว่าของที่ราคาเคลื่อนไหวเร็วซึ่งกองพิธีการและประเมินอากรร่วมกับกองวิเคราะห์ราคาได้พิจารณากำหนดชนิดของนั้น ๆ ไว้ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน เป็นราคาที่ใช้ในการประเมินอากรตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 3 ถึง 6 เห็นว่า คำสั่งของกรมศุลกากรดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้สำหรับพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยเปรียบเทียบราคากับผู้นำเข้ารายก่อนเท่านั้น แต่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2ได้ให้นิยามของคำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบแสดงหลักฐานว่าราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทชนิดเดียวกันจากแหล่งประเทศกำเนิดเดียวกันโดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินราคาที่โจทก์เคยนำเข้าโดยให้ใช้ราคาสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน หรือ 1 เดือนเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินอากร เมื่อโจทก์จำเลยรับกันว่าสินค้าก๊าซเอทธิลีนเหลวเป็นสินค้าที่มีราคาเคลื่อนไหวเร็วก็มีการเปลี่ยนแปลงราคาเดือนละ 3 ถึง 4 ครั้ง จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าราคาสินค้าที่เคยนำเข้าสูงสุดย้อนหลังไม่เกิน 3 เดือน หรือ1 เดือน ที่จำเลยใช้เป็นเกณฑ์ประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ปัญหาต่อไปคือราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าตามราคา ซี.ไอ.เอฟ. ถือได้หรือไม่ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เห็นว่า โจทก์นำสืบแสดงว่าราคาก๊าซเอทธิลีนเหลวขึ้นลงเร็ว ก่อนโจทก์สั่งซื้อจะต้องสอบถามราคาจากผู้ผลิตและข่าวสารทั่วโลกแหล่งข่าวสารที่โจทก์ติดตามประจำคือ ไอ.ซี.ไอ.เอส.(Indenpendent Chemical Information Service) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของราคาก๊าซเอทธิลีนเหลวทั่วโลกตามเอกสารหมาย จ.9, จ.10และ จ.14 ถึง จ.19 ราคาของก๊าซเอทธิลีนเหลวมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ของตลาดเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง ราคาที่โจทก์จัดซื้อเมื่อเทียบเคียงราคาจากข่าวสารจะใกล้เคียงระดับเดียวกัน การซื้อโจทก์ชำระราคาโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมีใบกำกับสินค้าแสดงราคาสินค้าสัญญาซื้อขาย พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินของธนาคารเป็นหลักฐาน จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งว่าพยานหลักฐานที่โจทก์สำแดงราคาสินค้าตามที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าและใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 29 ฉบับ ที่โจทก์ซื้อมาและชำระราคาไปแล้วนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ฉะนั้นราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับจึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดการที่จำเลยประเมินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share