คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่น้ำท่วมบริเวณโรงงานแต่มิได้ท่วมตัวโรงงาน จนนายจ้างต้องปิดโรงงาน ประกอบกับลูกจ้างพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเหตุขัดขวางในการที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างและกรณีไม่ถือว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายจ้างยังไม่หลุดพ้นจากการชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2523จำเลยสั่งพักงานโจทก์เพราะน้ำท่วมโรงงาน จนเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2524 โจทก์ขอเข้าทำงานแต่จำเลยให้รอไปก่อน และในวันที่ 7 มกราคม 2524 โจทก์ขอเข้าทำงานอีก แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกันนั้น โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย การพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 ถึงวันที่ 7 มกราคม2524 ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยหยุดดำเนินกิจการและปิดบริษัทชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมบริษัท จำเลยไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบจากผู้จำหน่ายได้ ก่อนหยุดดำเนินกิจการจำเลยได้เรียกประชุมพนักงานและลูกจ้างชี้แจงอุปสรรคจนเป็นที่เข้าใจดี จำเลยได้ประกาศหยุดและปิดกิจการชั่วคราวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2523 น้ำท่วมบริษัทเป็นเวลานานจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มาสอบถามกำหนดเปิดทำงานบริษัทก็ยังไม่สามารถเปิดทำการได้เนื่องจากผลต่อเนื่องจากเหตุน้ำท่วม ต้องสำรวจความเสียหายและเครื่องวัตถุดิบในการดำเนินกิจการ จำเลยได้ชี้แจงให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ไม่ยอมรับฟัง กลับร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2524 ซึ่งจำเลยได้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่แรงงานว่ามิได้เลิกจ้างโจทก์และยินดีรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2524 จำเลยได้ประกาศให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานในวันที่ 19 และ 20 มกราคม 2524แต่โจทก์และลูกจ้างบางส่วนไม่เข้าทำงานกลับเรียกเอาค่าชดเชยและค่าเสียหายในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน จำเลยเห็นว่าจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยหยุดกิจการเพราะเหตุน้ำท่วมเป็นเหตุธรรมชาติอันสุดวิสัย จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ ไม่ต้องวินิจฉัยคำขอในเรื่องค่าชดเชย สินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมสำหรับค่าเสียหายในระหว่างหยุดกิจการฝ่ายลูกจ้างต้องเสียหายมากกว่านายจ้างให้จำเลยช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์คนละ 2,100 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างแรงงาน การมอบงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง นายจ้างไม่อาจมอบงานหรือสั่งไม่ให้ลูกจ้างทำงานก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างให้ลูกจ้างตลอดเวลาที่ตกลงจ้างกันไว้จนกว่าจะมีการเลิกจ้างหรือสัญญาจ้างต่อกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ จึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ ส่วนที่ว่าน้ำท่วมจำเป็นต้องปิดโรงงานหยุดกิจการชั่วคราวเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะโทษนายจ้างไม่ได้นั้นเห็นว่าโรงงานจำเลยเป็นโรงงานผลิตขนมปังสำเร็จรูป จริงอยู่น้ำท่วมเป็นอุปสรรคในการผลิตก็เพียงแต่ทำให้การเข้าออกโรงงาน รวมถึงการขนถ่ายวัตถุดิบเป็นไปด้วยความยากลำบากเท่านั้น ตัวโรงงานมิได้ถูกน้ำท่วมด้วย เหตุที่ปิดโรงงานก็เพราะความเสียหายในด้านการขายและการผลิตไม่มีผลกำไร มิใช่โรงงานจะทำการผลิตไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานอันก่อขึ้นผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยนั้นการชำระหนี้ทางฝ่ายโจทก์ลูกจ้างอยู่ที่ต้องทำงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้าง การชำระหนี้ทางฝ่ายจำเลยอยู่ที่การใช้ค่าจ้างให้การปิดโรงงานนั้นมิได้เป็นเหตุขัดขวางอย่างไรที่จะทำให้ถึงแก่จำเลยใช้ค่าจ้างให้โจทก์ไม่ได้ เพราะยังไม่พ้นวิสัยที่จำเลยจะชำระหนี้ใช้ค่าจ้างให้โจทก์ได้อยู่ ฉะนั้น ในเมื่อพฤติการณ์แห่งคดีโจทก์พร้อมที่จะทำงานให้จำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้สิ้นความสามารถในการทำงานแต่อย่างใด ตราบใดที่ยังไม่มีการเลิกจ้าง หรือมีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์ก็ควรจะได้ค่าจ้างต่อไป

พิพากษายืน

Share