คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1179/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2522จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่พนักงานทอผ้าในแผนกทอผ้าตลอดมาการปฏิบัติงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไปคือทำงานตักขยะตักเศษด้ายขึ้นมาจากท้องร่องรอบๆโรงงานและกวาดขยะเน่าในโกดังซึ่งมีลักษณะงานแตกต่างจากที่โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่เดิมที่แผนกทอผ้ามากถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานในส่วนสำคัญและเป็นการย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ต่ำกว่าเดิมคำสั่งเปลี่ยนแปลงหน้าที่โจทก์จากงานทอผ้าไปทำงานแผนกสวัสดิการทั่วไปจึงเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมการที่จำเลยมีคำสั่งเปลี่ยนหน้าที่โจทก์จากทอผ้าไปทำงานแผนกสวัสดิการทั่วไปแม้โจทก์ไม่ปฏิบัติตามโดยจำเลยได้ตักเตือนแล้วก็ตามกรณียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2522 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งแผนกทอผ้า ทำหน้าที่ทอผ้า กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือน ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและขาดงาน 2 วันซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานมากกว่าสามปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยพิเศษ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 23 กันยายน 2538 รวม 6 วัน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 138,864 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและละทิ้งหน้าที่ 2 วันในวันที่ 14 และ 15 กันยายน 2538 จำเลยมีคำสั่งลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือแล้วแต่วันที่ 16 ถึง 22 กันยายน2538 โจทก์กระทำผิดละทิ้งหน้าที่อีก เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2538 เป็นต้นไปงานครั้งสุดท้ายโจทก์ประจำอยู่โรงงานทอผ้า 2 จำเลยพิจารณาโยกย้ายพนักงานรวมทั้งโจทก์ไปช่วยโรงงานปั่นด้าย 3 แต่ทางโรงงานปั่นด้ายปฏิเสธไม่สามารถรับโจทก์กับพวก วันที่ 31 สิงหาคม2538 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์กับพวกไปช่วยทำงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไป หลังจากโจทก์ลากิจโดยเข้าทำงานวันที่ 6 กันยายน 2538ในแผนกสวัสดิการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 15 กันยายน 2538 โจทก์ได้รับมอบหมายงานแล้วไม่ยอมทำงานเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาจำเลยลงโทษออกหนังสือเตือนโจทก์ ต่อมาโจทก์ขัดคำสั่งและละทิ้ง>หน้าที่อีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2522 ในแผนกทอผ้า ทำหน้าที่ทอผ้าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 149 บาท และค่าครองชีพเดือนละ300 บาท นอกจากนี้ยังได้รับค่าแรงเพิ่มหากโจทก์ทำงานตามแผนการรับเหมาทอผ้า ต่อมาจำเลยประสบปัญหาการดำเนินงานขาดทุน ในปี พ.ศ. 2532 จำเลยสั่งเครื่องจักรประเภทไร้กระสวยเข้ามาในโรงงานจึงปิดโรงงานไป 3 โรง ยังเหลือโรงงานทอผ้า 1 โรงจำเลยจึงมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปปฏิบัติงานในแผนกโรงปั่นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 โจทก์รับคำสั่งเรียบร้อยแล้ววันที่ 1 ถึง 3 กันยายน 2538 โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลากิจ ส่วนวันที่4 เป็นวันหยุดของโจทก์ โจทก์กลับเข้าทำงานอีกครั้งในวันที่ 5กันยายน 2538 แต่โจทก์ไม่สามารถกลับเข้าปฏิบัติงานในโรงงานปั่นด้ายจำเลยจึงให้โจทก์เข้าไปทำงานในแผนกสวัสดิการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2538 เป็นต้นไป โจทก์ปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 6ถึง 13 กันยายน 2538 วันที่ 14 กันยายน 2538 โจทก์ได้ไปที่ทำงานลงชื่อมาปฏิบัติงานแต่โจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไป โดยทำงานตักขยะ ตักเศษด้ายขึ้นจากท้องร่องรอบ ๆ โรงงาน และกวดขยะเน่าในโกดังแล้วเข็นไปทิ้งซึ่งการปฏิบัติงานในแผนกสวัสดิการทั่วไป โจทก์ได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 149 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 300 บาท รายได้พิเศษไม่ได้รับเนื่องจากเปลี่ยนลักษณะงาน วันที่ 14 ถึง 22 กันยายน 2538โจทก์มาที่ทำงานลงชื่อปฏิบัติงานแต่โจทก์ไม่ได้ทำงานตามที่ย้ายมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 จำเลยได้มีคำสั่งตักเตือนโจทก์ว่ามีข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและในวันที่ 22 กันยายน 2538 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจำเลยเตรียมค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 6 ถึง 22 กันยายน 2538จำนวน 894 บาทไว้ให้แล้ว แต่โจทก์ไม่ไปรับ แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากโรงงานทอผ้าไปทำงานในโรงงานปั่นด้ายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 โจทก์ตกลงและรับทราบคำสั่งแล้วแต่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลากิจวันที่ 1 ถึง 3 กันยายน 2538ส่วนวันที่ 4 กันยายน 2538 เป็นวันหยุดของโจทก์ โจทก์กลับเข้าทำงานในวันที่ 5 กันยายน 2538 ที่โรงงานปั่นด้าย แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าทำงานได้จำเลยจึงให้โจทก์เข้าทำงานในแผนกสวัสดิการทั่วไปซึ่งโจทก์โต้แย้งว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง คำสั่งของจำเลยให้โจทก์เข้าทำงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไปจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่โจทก์ลงชื่อเข้าทำงานในวันที่ 14 ถึง 22 กันยายน 2538แล้วไม่ทำงานจะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยไม่ได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย 76,320 บาท ค่าชดเชย 28,260 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 5,088 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย894 บาท รวมเป็นเงิน 110,562 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 110,562 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยมีคำสั่งเปลี่ยนหน้าที่โจทก์จากทอผ้าไปทำงานแผนกสวัสดิการทั่วไป แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามโดยจำเลยได้ตักเตือนแล้ว เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่ ซึ่งมีข้อที่ต้องพิจารณาว่าการฝ่าฝืนดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมดาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(4) หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2522 จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่พนักงานทอผ้าในแผนกทอผ้าตลอดมา ตามข้อเท็จจริงที่รับกันปรากฏว่าการปฏิบัติงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไปคือทำงานตักขยะ ตักเศษด้ายขึ้นมาจากท้องร่องรอบ ๆ โรงงานและกวาดขยะเน่าในโกดัง ซึ่งมีลักษณะงานแตกต่างจากเดิมที่แผนกทอผ้ามาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานในส่วนสำคัญและเป็นการย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ต่ำกว่าเดิม คำสั่งเปลี่ยนแปลงหน้าที่โจทก์จากงานทอผ้าไปทำงานแผนกสวัสดิการทั่วไปจึงเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share