แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ฉบับพิพาท ข้อ 11 วรรคหนึ่งระบุว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติดต่อกัน เจ้าของจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน หากผู้เช่าไม่ชำระหรือชำระไม่เต็มจำนวนให้ทันงวด ณ วันที่ชำระให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงทันที” การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อได้แจ้งให้จำเลยชำระค่างวดที่ค้างเดิม 2 งวด ภายใน 30 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว จึงนำเงินมาชำระจนครบ 22 งวด การบอกกล่าวจึงไม่มีผลให้สัญญาสิ้นสุดลง คู่สัญญายังคงมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป เอกสารใบรับรถยนต์มีข้อความเพียงว่า จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.เป็นตัวแทนในการมอบรถยนต์ให้แก่จำเลย ไม่มีข้อความใดแสดงว่าห้างดังกล่าวเป็นตัวแทนโจทก์ในการรับรถยนต์คืนทั้งห้างดังกล่าวไม่ใช่เป็นตัวแทนโจทก์แต่เป็นศูนย์ขายรถยนต์ทั่วไป และตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ข้อ 12 การคืนรถในกรณีใด ๆ ก็ต้องคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่สิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การที่ต่อมาโจทก์ยึดรถยนต์คืนมาโดยไม่ได้มีการบอกกล่าวตามข้อ 11 วรรคหนึ่งอีกย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงในวันนั้น คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ให้ถูกต้องนับแต่งวดที่ 23 จนถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืน โจทก์ย่อมเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในระยะเวลานั้น จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ส่วนค่าขาดราคานั้น เมื่อคู่สัญญาต่างก็สมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้ว หนี้ตามสัญญาที่กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ค่าขาดราคาย่อมระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาดังกล่าวจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 486,384 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็น 48 งวด งวดละ 10,133 บาทต่อเดือน ชำระงวดแรกวันที่ 2 กันยายน 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 2 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 23โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วและยึดรถยนต์คืนได้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม2537 โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์นับแต่วันผิดนัดถึงวันยึดรถยนต์คืนในอัตราเดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี11 เดือน 23 วัน เป็นเงิน 142,600 บาท แต่โจทก์ขอเรียกเพียง100,000 บาท โจทก์นำรถยนต์ที่ยึดคืนออกประมูลขายได้เงิน126,168.22 บาท ค่าเช่าซื้อยังขาดเป็นเงิน 137,289.78 บาทแต่โจทก์ขอเรียกเพียง 70,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่โจทก์เข้าครอบครองรถยนต์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 26,066.66 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 196,066 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 170,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ แต่เมื่อได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1ก็นำรถยนต์ไปคืนให้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ค่าเสื่อมราคารถยนต์และดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,240 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน74,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ในราคา 486,384 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ48 งวด งวดละ 10,133 บาท ต่อเดือน งวดแรกชำระวันที่ 2 กันยายน2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระภายใน 30 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วได้นำค่าเช่าซื้อมาชำระจนครบ 22 งวด แต่หลังจากนั้นไม่ชำระอีกเลย ต่อมาวันที่27 พฤษภาคม 2537 โจทก์ยึดรถยนต์คืนได้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดศูนย์รถยนต์ลาดพร้าว 97 เพราะจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปคืนไว้ที่ห้างดังกล่าว โจทก์นำออกประมูลขายได้เงิน 126,168.22 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคาหรือไม่เพียงใด เห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่พิพาท ข้อ 11 วรรคหนึ่ง ระบุว่า”ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติดต่อกันเจ้าของจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน30 วัน หากผู้เช่าไม่ชำระหรือชำระไม่เต็มจำนวนให้ทันงวด ณ วันที่ชำระให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงทันที” โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระค่างวดที่ค้างเดิม 2 งวด ภายใน 30 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ตามเอกสารหมาย จ.8 เมื่อได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระจนครบ 22 งวดการบอกกล่าวตามเอกสารหมาย จ.8 จึงไม่มีผลให้สัญญาสิ้นสุดลงคู่สัญญายังคงมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อต่อไปที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 รับรถยนต์ที่เช่าซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศูนย์รถยนต์ลาดพร้าว 97 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ตามใบรับรถยนต์เอกสารหมาย จ.6 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 1 ก็นำรถยนต์ไปคืนให้ห้างดังกล่าวซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2535 สัญญาสิ้นสุดลงแล้วนั้น ใบรับรถยนต์เอกสารหมาย จ.6มีข้อความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดศูนย์รถยนต์ลาดพร้าว 97 เป็นตัวแทนในการมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่มีข้อความใดแสดงว่าห้างดังกล่าวเป็นตัวแทนโจทก์ในการรับรถยนต์คืน ทั้งผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่าห้างดังกล่าวไม่ใช่เป็นตัวแทนโจทก์แต่เป็นศูนย์ขายรถยนต์ทั่วไป และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1นำรถไปคืนห้างดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12การคืนรถในกรณีใด ๆ ก็ต้องคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่สิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อแต่ต่อมาเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์คืนมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2537โดยไม่ได้มีการบอกกล่าวตามข้อ 11 วรรคหนึ่งอีก ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงในวันยึดรถคืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ให้ถูกต้องนับแต่งวดที่ 23 จนถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืน โจทก์ย่อมเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในระยะเวลานั้น จำเลยที่ 1จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 54,720 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดราคาจำนวน 20,000 บาท นั้น เห็นว่าเมื่อต่างก็สมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้ว หนี้ตามสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าขาดราคาย่อมระงับไปด้วยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน54,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์