แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 8 และข้อ 9 มีความเกี่ยวพันกันโดยลำดับเกี่ยวกับการบังคับเอาแก่จำเลยผู้ขายกรณีผิดสัญญา กล่าวคือ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบแล้วจำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบ โจทก์ขอใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามสัญญาข้อ 8และริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 7 เป็นจำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และหากโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นจำเลยต้องรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา หากโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาของที่ยังไม่ได้รับมอบตามสัญญาข้อ 9 วรรคแรกและในกรณีใช้สิทธิเรียกค่าปรับ ถ้าโจทก์เห็นว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้น จำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ริบหลักประกัน และเรียกให้ชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับได้ ตามสัญญาข้อ 9วรรคสอง ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าในกรณีที่ได้มีการปฏิบัติตามสัญญาไปบ้างแล้วเท่านั้น จึงจะปรับเข้ากับสัญญาข้อ 9 ได้ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบและสงวนสิทธิในอันที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขที่อ้างถึงในสัญญาข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ไว้ ต่อมาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาและแจ้งไปด้วยว่าโจทก์ต้องทำการปรับจำเลยด้วย แต่จำเลยเพิกเฉยในระหว่างที่มีการปรับ โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาถือว่าโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 9 หาใช่ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 8ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาที่ยังไม่ได้รับมอบตามสัญญาจากจำเลยได้
ราคาสิ่งของตามสัญญาซื้อขายมีเพียง 92,720 บาท โจทก์เรียกค่าปรับมาเป็นเงิน 90,123.84 บาท นับว่าสูงเกินส่วน เงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383