แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีแจ้งความเท็จ ข้อผิดพลาดในคำฟ้องที่เกี่ยวกับว่าความเท็จที่แจ้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อใดเป็นรายละเอียดซึ่งเกี่ยวกับความผิด ถ้าจำเลยมิได้หลงต่อสู้โจทก์ย่อมขอแก้ฟ้องได้
ฟ้องโจทก์ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดพลาด และจำเลยยังได้ยกข้อผิดพลาดนั้นเป็นข้อตัดฟ้อง ย่อมทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดพลาดนั้น
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกันเดิมโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๙๘ จำเลยแจ้งความเท็จต่อปลัดอำเภอบ้านไผ่กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๘ นายเคนทำร้าย พล ฯสุเรนทร์ และพล ฯ วีระ แจ้งว่าได้รู้เห็นขณะนายเคนทำร้าย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธว่าวันเวลาที่โจทก์หาจำเลยมิได้กระทำผิด และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะคำฟ้องขัดต่อเหตุผลและหลักตรรกวิทยา ในวันเวลาที่โจทก์บรรยายในฟ้อง
เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ ๑ ปากโจทก์ขอแก้ฟ้องวันที่จำเลยได้แจ้งว่านายเคนกระทำผิดจากวันที่ + ธันวาคม ๒๔๙๘ เป็น ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๘ โดยอ้างว่าพิมพ์ผิด
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าจำเลยหลงข้อต่อสู้ในข้อที่ผิด แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่เป็นไปไม่ได้ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องขอแก้รายละเอียดในฟ้อง เป็นเรื่องพลั้งเผลอ จำเลยเองก็รู้ดี จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ความเท็จเกิดเมื่อไรนั้นเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิด ฟ้องโจทก์เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดพลาดหรือผิดของโจทก์ และพิจารณาคำให้การของจำเลยแล้วเห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อผิดพลาดหรือผิดหลงนั้น จำเลยกลับยกฟ้องผิดพลาดนั้น เป็นข้อตัดฟ้องเสียด้วยซ้ำ ศาลฎีกาพิพากษายืน