คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11718/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ค. เริ่มครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2500 ภายหลังวันที่ ป. ที่ดิน ใช้บังคับ ค. และจำเลยจึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 4 แห่ง ป.ที่ดิน แม้ ค. จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 621ฯ แต่สิทธิในที่ดินพิพาทที่ ค. มีอยู่นั้นมิใช่สิทธิตาม ป.ที่ดิน โดยที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ค. ก็มีแต่เพียงสิทธิในการยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเมืองภูเก็ตเพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ตามความในมาตรา 12 และมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เท่านั้น และเมื่อ ค. โดยจำเลยผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายจึงมีผลให้ถือว่าจำเลยสละสิทธิหรือประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดตามกฎหมาย ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิดอันเป็นที่ดินของรัฐซึ่งโจทก์มีอำนาจปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ต้องจัดซื้อหรือเวนคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
บทนิยามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เกษตรกร หมายความว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักประเภทหนึ่ง กับบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอีกประเภทหนึ่งทั้ง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินฯ และระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มุ่งหมายให้เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ในขณะที่จำเลยยื่นคำขอและคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยมีที่ดินเป็นของตนรวม 12 แปลง มีเนื้อที่รวม 314 ไร่เศษ จำเลยจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เพราะมิใช่ผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรมตามเจตนารมณ์ในการตราและประกาศใช้ พ.ร.ฎ.และระเบียบฉบับดังกล่าว
คดีไม่มีทุนทรัพย์ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์ จึงเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงไม่เกิน 1,500 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 53 อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 53 อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า นายคาว บิดาของจำเลยได้ครอบครองและทำประโยชน์สวนยางพาราในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่ 21 ธันวาคม 2516 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 621 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้ป่าเทือกเขานาคเกิด ในท้องที่ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ และตำบลวิชิต ตำบลฉลอง ตำบลกะรน และตำบลราไว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ภายในแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามสำเนากฎกระทรวงเอกสารหมาย จ. 1 อันเป็นผลให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด นายคาวจึงมอบอำนาจให้จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านและขอพิสูจน์สิทธิต่อนายอำเภอเมืองภูเก็ตว่า นายคาวมีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปรังวัดและสอบสวนพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสำเนาคำร้องของผู้อ้างว่ามีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และสำเนาบันทึกการรังวัดสอบสวนพิสูจน์สิทธิหรือประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ดินสงวนหวงห้ามตามโครงการเร่งรัดจัดที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินและที่บุกรุกเข้าไปทำกินในที่สงวนหวงห้ามเอกสารหมาย ล. 6 นายคาวถึงแก่ความตายเมื่อปี 2520 หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยทำสวนยางพาราต่อไป เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2537 ตามสำเนาพระราชกฤษฎีกาฯเอกสารหมาย จ. 4 อันเป็นผลให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จำเลยได้ยื่นคำขอและคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสำเนาคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินและสำเนาคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 และ จ. 8 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตมีมติคัดเลือกจำเลยให้เป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทพร้อมออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 53 อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้แก่จำเลยตามสำเนาประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตและสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย จ. 9 และ จ. 10 ขณะที่จำเลยยื่นคำขอและคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยมีที่ดินเป็นของตนอยู่แล้วรวม 12 แปลง โดยเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดิน 8 แปลง มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) 3 แปลง และมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) 1 แปลง เนื้อที่รวม 314 ไร่เศษ ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินฯเอกสารหมาย จ. 24
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจปฏิรูปที่ดินพิพาทเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่จำต้องจัดซื้อ หรือเวนคืนจากจำเลยหรือไม่ จำเลยอ้างนายคนึง บุตรของจำเลยเป็นพยานเบิกความสรุปว่า นายคาวได้ครอบครองและทำประโยชน์สวนยางพาราในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 ซึ่งคำเบิกความของนายคนึงนี้ตรงกับถ้อยคำของจำเลยที่ได้ให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รังวัดสอบสวนพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทตามสำเนาบันทึกการรังวัดสอบสวนพิสูจน์สิทธิหรือประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ดินสงวนหวงห้ามตามโครงการเร่งรัดจัดที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินและที่บุกรุกเข้าไปทำกินในที่สงวนหวงห้ามเอกสารหมาย ล. 6 ข้อ 7.3 ส่วนที่นายคนึงเบิกความว่า นายคาวเริ่มครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนปี 2500 แต่เริ่มเก็บใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ตั้งแต่ปี 2500 นั้น เป็นคำเบิกความลอยๆโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแจ้งชัดว่า นายคาวเริ่มครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปีใด ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เมื่อปี 2492 ปลัดกระทรวงมหาดไทยออกหนังสือแสดงว่านายคาวได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนขยันในการสร้างตนเองเป็นหลักฐานประจำอำเภอเมืองภูเก็ตตามสำเนาบัตรประจำตัวคนขยันเอกสารหมาย ล. 5 นั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่เชื่อมโยงให้เห็นได้ว่านายคาวได้รับการคัดเลือกเพราะเหตุได้ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาท และที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อปี 2522 ปี 2524 ปี 2526 และปี 2527 จำเลยได้รับการสงเคราะห์ด้วยยางพันธุ์ดีจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ตามหนังสือและสำเนาหนังสือประจำตัวผู้ได้รับการสงเคราะห์เอกสารหมาย ล. 7 ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นสวนยางอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเพราะตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 บัญญัติว่า “ผู้จะได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นเจ้าของสวนยางที่มีต้นยางอายุกว่ายี่สิบห้าปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางที่ได้ผลน้อย” นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือและสำเนาหนังสือประจำตัวผู้ได้รับการสงเคราะห์เอกสารหมาย ล. 7 แล้วก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งแสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยได้รับการสงเคราะห์เพราะเหตุว่าเป็นเจ้าของสวนยางที่มีต้นยางอายุกว่ายี่สิบห้าปีขึ้นไป พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมารับฟังได้เพียงว่า นายคาวเริ่มครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2500 ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นายคาวและจำเลยจึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย” แม้นายคาวจะได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 621 (พ.ศ. 2516) แต่สิทธิในที่ดินพิพาทที่นายคาวมีอยู่นั้นมิใช่สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว นายคาวก็มีแต่เพียงสิทธิในการยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเมืองภูเก็ตเพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ตามความในมาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เท่านั้น และเมื่อนายคาวโดยจำเลยผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายจึงมีผลให้ถือว่าจำเลยสละสิทธิหรือประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดตามกฎหมาย นอกจากนี้ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าคณะอนุกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติมีความเห็นสรุปได้ว่า ที่ดินพิพาทมีอาสินเต็มเนื้อที่ ควรเพิกถอนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออนุญาตให้นายคาวเช่าเพื่อทำประโยชน์ต่อไปตามสำเนาบันทึกการรังวัดสอบสวนพิสูจน์สิทธิหรือประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ดินสงวนหวงห้ามตามโครงการเร่งรัดจัดที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินและที่บุกรุกเข้าไปทำกินในที่สงวนหวงห้ามเอกสารหมาย ล. 6 ข้อ 11 นั้น เมื่อพิจารณาสำเนาบันทึกฉบับดังกล่าวแล้วข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ข้อความที่จำเลยอ้างว่าเป็นความเห็นของคณะอนุกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาตินั้นแท้จริงแล้วเป็นถ้อยคำของจำเลยซึ่งได้ให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกไปรังวัดสอบสวนพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทตามคำร้องของนายคาวมิใช่ความเห็นของคณะอนุกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติดังที่จำเลยฎีกา ประกอบทั้งไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องของนายคาวให้เพิกถอนที่ดินพิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคดีรับฟังข้อเท็จจริงได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า สิทธิในที่ดินพิพาทที่นายคาวมีอยู่มิใช่สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิดอันเป็นที่ดินของรัฐซึ่งโจทก์มีอำนาจปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ต้องจัดซื้อหรือเวนคืนจากจำเลย ฎีกาของจำเลยในประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจน หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร บรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย ตามบทนิยามดังกล่าวเกษตรกรจึงหมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักประเภทหนึ่ง กับบุคคลผู้ยากจน หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอีกประเภทหนึ่ง นอกจากนี้เกษตรกรทั้งสองประเภทนี้ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาด้วย ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต มีเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก สมควรกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าวให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ในการตราและประกาศใช้ว่า มุ่งหมายจะให้ผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ในขณะที่จำเลยยื่นคำขอและคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจำเลยมีที่ดินเป็นของตนรวม 12 แปลง มีเนื้อที่รวม 314 ไร่เศษ ทั้งคำขอและคำร้องขอตามเอกสารหมาย จ. 7 และ จ. 8 นั้น จำเลยยื่นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากที่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2535 โดยระเบียบดังกล่าวนี้ข้อ 6 (6) กำหนดเกษตรกรผู้ซึ่งมีคุณสมบัติว่า “ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ” นอกจากนี้คำสั่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ที่ 3/2538 เรื่อง สั่งให้สิ้นสิทธิและให้เกษตรกรพร้อมด้วยบริวารออกจากที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 16 ข้อ 1 ที่สั่งให้จำเลยสิ้นสิทธิเนื่องจากขาดคุณสมบัตินั้น ได้อ้างเหตุที่ถูกสั่งว่าเป็นไปตามระเบียบคณะกรรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535 มิได้อ้างมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตตามเอกสารหมาย จ. 12 และ จ. 13 มาวินิจฉัยย้อนหลัง เพื่อเพิกถอนสิทธิของจำเลยดังที่ฎีกาอ้างมาแต่ประการใด ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เพราะมิใช่ผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรมตามเจตนารมณ์ในการตราและประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาและระเบียบฉบับดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์นั้นไม่ชอบ เพราะตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์ไว้เพียง 1,500 บาท จึงเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share