คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุด่าผู้เสียหายก่อน เมื่อผู้เสียหายเข้าไปสอบถามจำเลย จึงเกิดการโต้เถียงกัน หลังจากนั้นทั้งจำเลยและผู้เสียหายต่างใช้อาวุธเข้าทำร้ายกัน ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กับผู้เสียหาย การที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายจึงไม่เป็นการป้องกันตัว จำเลยใช้มีดปลายแหลมใบมีดยาวประมาณ 4 นิ้ว แทงผู้เสียหาย3 ที ถูกที่บริเวณทรวงอกด้านซ้าย 3 แห่ง บาดแผลทะลุเข้าช่องปอดด้านซ้ายทั้ง 3 แห่ง มีเลือดออกในช่องปอดต้องใส่สายระบายเลือดออกจากปอด ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาความผิดต่อชีวิตแต่ไม่มีหลักฐานการแจ้งข้อหาแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นเพียงการเถียงข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนยังมิได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าแก่จำเลย เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้บังอาจพาอาวุธมีดปลายแหลมยาวประมาณ 7 นิ้ว1 เล่มติดตัวไปในถนน ณ ระนอง อันเป็นทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมดังกล่าวแทงผู้เสียหายที่บริเวณราวนมซ้ายและชายโครงซ้าย อันเป็นอวัยวะสำคัญรวม 3 ทีโดยเจตนาฆ่า คมมีดทะลุเข้าช่องปอด จำเลยได้ลงมือกระทำผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะแพทย์ช่วยชีวิตไว้ได้ทันท่วงทีผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 80, 288, 297, 371 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 50 บาทและจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 69 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี และปรับ50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 ริบอาวุธมีดของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ให้จำคุก 10 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุด่าผู้เสียหายก่อน เมื่อผู้เสียหายเข้าไปสอบถามจำเลยจึงเกิดการโต้เถียงกัน หลังจากนั้นทั้งจำเลยและผู้เสียหายต่างใช้อาวุธเข้าทำร้ายกัน ตามพฤติการณ์ถือได้ว่า จำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กับผู้เสียหาย การที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายจึงไม่เป็นการป้องกันตัวส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายปรากฏว่า ผู้เสียหายถูกแทงที่บริเวณทรวงอกด้านซ้าย 3 แห่ง บาดแผลทะลุเข้าช่องปอดด้านซ้ายทั้งสามแห่ง มีเลือดออกในช่องปอดด้านซ้ายบริเวณนั้นเป็นตำแหน่งอวัยวะสำคัญคือหัวใจ และเส้นเลือดใหญ่ถ้าแทงลึกลงไปอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต้องใช้วิธีรักษาผู้เสียหายโดยใส่สายเข้าไปในปอดเพื่อระบายเลือดออกจากปอด ถ้าผู้เสียหายไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อพิเคราะห์ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายประกอบกับลักษณะใบมีดปลายแหลมซึ่งมีความยาวประมาณ 4 นิ้ว เชื่อว่าจำเลยแทงผู้เสียหายที่บริเวณอวัยวะสำคัญโดยแรง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อผู้เสียหายไม่ตายเพราะแพทย์รักษาบาดแผลได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 แต่ไม่มีหลักฐานการแจ้งข้อหาแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นการเถียงข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าแก่จำเลย เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องดังที่จำเลยอ้าง แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกานี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พิพากษายืน

Share