แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะโจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณา การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือขอให้นัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนต่อไปโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่จงใจขาดนัดนั้น ก็คือการขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่นั่นเอง
คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาโดยไม่จงใจ มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้เฉพาะใน 2 กรณี คือ ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความที่ขาดนัดมาศาลภายหลังที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไปบ้างแล้วและศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่จงใจขาดนัด หรือมีเหตุอันสมควร ศาลจึงจะสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งถ้าเป็นจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยขาดนัดยื่นคำให้การด้วยก็ยอมให้ยื่นคำให้การได้ด้วย แต่ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณานั้นคงขาดนัดตลอดไปจนศาลพิจารณาคดีฝ่ายเดียวไปเสร็จสิ้นแล้วและพิพากษาให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดีในประเด็นพิพาทคู่ความซึ่งแพ้คดีโดยไม่จงใจขาดนัด ยังมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมาย
การขอให้พิจารณาคดีใหม่ใน 2 กรณีดังกล่าวแล้ว กฎหมายกำหนดเวลาที่จะขอให้พิจารณาใหม่ไว้ทั้ง 2 กรณี และการขอให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นหลักสำคัญข้อแรก ถ้าคดีไม่มีการพิจารณาฝ่ายเดียวแล้วคู่ความที่ขาดนัดจะขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ แม้คู่ความฝ่ายนั้นจะไม่จงใจขาดนัดก็ตาม
คำว่า ‘ขาดนัดพิจารณา’ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 200 ต้องถือตามมาตรา 197 วรรคสอง ถ้าคู่ความไม่มาศาลในวันที่ศาลเริ่มต้นสืบพยาน.โดยมิได้ขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล มาตรา 197 วรรคสอง ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา โดยไม่มีข้อที่ศาลจะต้องพิจารณาว่า คู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือ ไม่จงใจเพราะการขาดนัดโดยจงใจหรือไม่จงใจ จะกล่าวอ้างกันได้เฉพาะเมื่อมีการพิจารณาฝ่ายเดียวและมีการขอให้พิจารณาคดีใหม่เท่านั้น
เมื่อโจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรคสองและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามมาตรา 200 เสร็จสิ้นไปแล้ว ย่อมไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว.อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวตามมาตรา 200 วรรคสอง คือ ฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความเท่านั้นไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ เพราะไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว และที่ มาตรา 200 ให้สิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ได้ ย่อมแสดงอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยต่อสู้ว่าหนี้ระงับแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้จำเลยนำสืบก่อน นัดสืบพยานจำเลยวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๑๔ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา
ถึงวันนัดสืบพยานจำเลย คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล จนถึงเวลา๙.๐๐ นาฬิกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าคู่ความได้ลงชื่อทราบวันเวลานัดแล้ว ถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐
วันเดียวกันนั้น โจทก์ยื่นคำร้องว่า เหตุที่โจทก์มาศาลช้าไปเนื่องจากทนายโจทก์อยู่จังหวัดพระนคร มาศาลโดยทางรถยนต์ บังเอิญรถเสียระหว่างทาง ทนายโจทก์จึงมาถึงศาลเวลา ๙.๐๕ นาฬิกา ขอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีใหม่ในวันนี้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดี ไม่มีคู่ความฝ่ายใดแพ้คดีจะขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
วันเดียวกันนั้น โจทก์ยื่นคำร้องอีกว่า ที่โจทก์ขอให้พิจารณาใหม่หมายความว่าขอให้ศาลมีคำสั่งนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ขอให้พิจารณาคำร้องโจทก์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องสืบพยานต่อไปให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า ตามคำร้องของโจทก์ ประสงค์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป มิใช่เป็นการขอให้พิจารณาคดีใหม่ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะโจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ แล้ว การที่โจทก์ร้องขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือขอให้ศาลนัดสืบพยานจำเลยต่อไป (ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน) โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่จงใจขาดนัดนั้น ก็คือการขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่นั่นเอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า ตามบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาโดยการขาดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่มาตรา ๑๙๗ ถึงมาตรา ๒๐๙ นั้น คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาโดยไม่จงใจขาดนัดจะมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้เฉพาะใน ๒ กรณีเท่านั้น คือ ในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความที่ขาดนัดมาศาลภายหลังที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ขาดนัดไปบ้างแล้ว และศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่จงใจขาดนัดหรือมีเหตุอันสมควรศาลจึงจะสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งถ้าเป็นจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ก็ยอมให้ยื่นคำให้การได้ด้วย (มาตรา ๒๐๕ วรรค ๒) แต่ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณานั้นคงขาดนัดตลอดไปจนศาลพิจารณาคดีฝ่ายเดียวไปเสร็จสิ้นแล้ว และพิพากษาให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดีในประเด็นพิพาท คู่ความซึ่งแพ้คดีโดยไม่จงใจขาดนัดยังมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมาย (มาตรา ๒๐๗) และการขอให้พิจารณาคดีใหม่ใน ๒ กรณีนี้ กฎหมายกำหนดเวลาที่จะขอให้พิจารณาใหม่ไว้ทั้ง ๒ กรณี ตามมาตรา ๒๐๕ วรรค ๒ และมาตรา ๒๐๘ แล้วแต่กรณีจึงเห็นได้ว่าการขอให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นหลักสำคัญข้อแรก ถ้าคดีไม่มีการพิจารณาฝ่ายเดียวแล้วคู่ความที่ขาดนัดจะขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ แม้คู่ความฝ่ายนั้นจะไม่จงใจขาดนัดก็ตาม
ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถ้าหากคดีฟังได้ว่าโจทก์ไม่จงใจขาดนัดพิจารณาย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามความหมายของมาตรา ๒๐๐แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะคำว่า “ขาดนัดพิจารณา” ตามมาตรา ๒๐๐ ต้องถือตามมาตรา ๑๙๗ วรรค ๒ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน(ซึ่งหมายถึงวันที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานของคู่ความฝ่ายใดก็ตาม) และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” จะเห็นได้ว่า ถ้าคู่ความไม่มาศาลในวันที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานโดยมิได้ขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลแล้ว มาตรา ๑๙๗ วรรค ๒ “ให้ถือว่า” คู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณาโดยไม่มีข้อที่ศาลจะต้องพิจารณาเลยว่า คู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่จงใจ เพราะการขาดนัดโดยจงใจหรือไม่จงใจจะกล่าวอ้างกันได้เฉพาะเมื่อมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว และมีการขอให้พิจารณาคดีใหม่เท่านั้นตามที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
คดีนี้โจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๑๙๗ วรรค ๒ แล้วและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามมาตรา ๒๐๐ เสร็จสิ้นไปแล้วไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวตามมาตรา ๒๐๐ วรรค ๒ คือ ฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความเท่านั้น และจะถือว่ามาตรา ๒๐๐ มิได้ห้ามโจทก์ที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่อย่างกรณีตามมาตรา ๒๐๑ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้โดยไม่มีกฎหมายห้ามนั้นไม่ถูกต้องเพราะการขอให้พิจารณาคดีใหม่จะทำได้ต่อเมื่อมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวดังกล่าวแล้วและการที่มาตรา ๒๐๐ ให้สิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ได้ย่อมแสดงอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้ายอมให้โจทก์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา ๒๐๐ ย่อมเป็นการแปลเพิ่มเติมมาตรา ๒๐๐ ผลจะกลายเป็นว่าโจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ก็ได้ และจะฟ้องคดีใหม่ก็ได้ ซึ่งจะเกิดผลวิปริตในการดำเนินคดี เช่นถ้ายอมให้โจทก์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ตามมาตรา ๒๐๐ไม่มีกำหนดเวลาที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่อย่างมาตรา ๒๐๕ วรรค ๒และมาตรา ๒๐๘ ผลจะกลายเป็นว่าโจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อใดก็ได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และถ้าศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ขอให้พิจารณาคดีใหม่เพราะโจทก์จงใจขาดนัดพิจารณา โจทก์จะใช้สิทธิโดยตรงของโจทก์ยื่นฟ้องคดีใหม่ตามมาตรา ๒๐๐ วรรค ๒ โดยศาลจะไม่ยอมรับฟ้องก็ไม่ได้เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๒๐๐ วรรค ๒ โดยตรง หรือถ้าจำเลยตามมาตรา ๒๐๐ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ และบังเอิญศาลยอมให้พิจารณาใหม่เพราะจำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจารณา ฝ่ายโจทก์ก็จะใช้สิทธิของโจทก์ยื่นฟ้องคดีใหม่ โดยอาจจะฟ้องเพิ่มเติมขึ้นมากกว่าคำฟ้องเดิมก็ได้ เป็นต้น
อาศัยเหตุผลดังวินิจฉัยมา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ แล้วโจทก์มีสิทธิอย่างเดียวที่จะฟ้องคดีใหม่เท่านั้น ไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น