แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะฟังว่าตามใบขนสินค้าขาเข้าในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยนำเข้ามาเกินกว่า10 ปี นับถึงวันฟ้องแล้วก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 55 วรรคท้าย ให้เริ่มนับอายุความเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวก็คือคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 6 เมษายน2528 การนับอายุความจึงเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งคิดถึงวันฟ้องยังไม่ครบสิบปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม
จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำเลยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรเพื่อผลิตกล่องบรรจุตลับเทปคาสเซทและตลับเทปคาสเซท ต่อมาวันที่28 มีนาคม 2528 จำเลยถูกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดโดยเหตุไม่ส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ จึงถือได้ว่าจำเลยไม่เคยได้รับยกเว้นภาษีอากรมาแต่ต้น ดังนั้น จำเลยจึงต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรโดยถือสภาพของราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรแก่โจทก์ทั้ง 17 ใบขนที่จำเลยยังไม่นำเงินมาชำระตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง
หลังจากกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่จำเลยทั้งหมดโดยให้เรียกเก็บภาษีอากรที่ได้รับยกเว้นทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากร หน่วยส่งเสริมการลงทุนของโจทก์ที่ 1 จัดเก็บภาษีจากจำเลย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รวบรวมเอกสารใบขนสินค้าได้จำนวน 20 ใบขนประเมินภาษีอากรแล้วได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้มาชำระภาษีพร้อมกับได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรโดยได้แจ้งภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าขณะนำสินค้าเข้ามาโดยแจ้งให้จำเลยมาชำระค่าภาษีภายใน 15 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87(2) แล้ว หากจำเลยเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30เสียก่อนแต่จำเลยก็ไม่ได้อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากจำเลยย่อมถึงที่สุด จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้
จำเลยต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับ รวมทั้งสิ้น 17 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่จำเลยยังมิได้ชำระ จำเลยจึงต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้านับแต่วันที่ได้ส่งมอบของให้จำเลยรับไปจนกว่าจำเลยชำระให้เสร็จสิ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา นอกจากนี้จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้านับเมื่อพ้นสิบห้าวันถัดจากเดือนภาษีจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มภาษีการค้านี้จะต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ และจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลอีกร้อยละสิบของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่ต้องชำระตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตรา 12
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน 4,479,980.25 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้ารวม 17 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระอากรขาเข้าในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีการค้าที่ต้องชำระจำนวน 34,423.52 บาท สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ดี 104 – 00090 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระภาษีการค้าครบจำนวน 34,423.52 บาท แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวน 1,023.24 บาท และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินภาษีอากรจำนวน4,479,980.25 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้ารวม 17 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระอากรขาเข้าดังกล่าวเสร็จ และให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีการค้าที่ต้องชำระ 34,423.52 บาท สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ ดี 104 – 00090 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบ34,423.52 บาท ทั้งนี้เงินเพิ่มดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวน 1,032.24 บาท และให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า ค่าภาษีอากรสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าลำดับที่ 1 ถึง 13 ตามคำฟ้องขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520มาตรา 55 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าหรือส่งออกทั้งหมด ให้ถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้น และให้ผู้ได้รับการส่งเสริมเสียภาษีอากรโดยถือตามสภาพของราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าหรือส่งออกเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากร…ฯลฯ” วรรคสาม บัญญัติว่า “ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องแจ้งขอชำระภาษีอากร หรือภาษีอากรเพิ่มเติมต่อกรมศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่ได้นำของนั้นเข้ามา หรือส่งออกนั้นออกไปภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร และต้องชำระ ณ ที่ทำการศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการจำนวนเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มอันจะพึงต้องชำระ ถ้ามิได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้นให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาหรือส่งออกไปโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรและให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับ”และวรรคท้ายบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี การนับอายุความตามมาตรานี้ให้เริ่มนับเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่ง” พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น ให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความสองปีทั้งนี้นับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออก” ดังนั้น แม้จะฟังว่าตามใบขนสินค้าขาเข้าลำดับที่ 1 ถึงลำดับที่ 13 ในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยนำเข้ามาเกินกว่า10 ปี นับถึงวันฟ้องแล้วก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520มาตรา 55 วรรคท้าย ให้เริ่มนับอายุความเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวก็คือคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2528 การนับอายุความจึงเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งคิดถึงวันฟ้องยังไม่ครบสิบปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรขาเข้าเฉพาะใบขนสินค้าขาเข้าลำดับที่ 14 ถึง 17 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าจำเลยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำเลยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรเพื่อผลิตกล่องบรรจุตลับเทปคาสเซท และตลับเทปคาสเซท ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2528 จำเลยถูกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดโดยเหตุไม่ส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ จึงถือได้ว่าจำเลยไม่เคยได้รับยกเว้นภาษีอากรมาแต่ต้น ดังนั้น จำเลยจึงต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรโดยถือสภาพของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรแก่โจทก์ทั้ง 17 ใบขนที่จำเลยยังไม่นำเงินมาชำระตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติว่า “ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอไม่มีหน้าที่ประเมินให้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน…ฯลฯ …(2)…ฯลฯ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์ที่ 1 แม้จะเป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลก็ไม่ใช่การประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 และมาตรา 18 จำเลยไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนจึงจะยกขึ้นต่อสู้คดีในชั้นศาลได้นั้น เห็นว่าโจทก์มีนางอนัญญา คล่องสั่งสอน เจ้าหน้าที่ประเมินอากร หน่วยส่งเสริมการลงทุนของโจทก์ที่ 1 มาเบิกความว่า หลังจากโจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่จำเลยทั้งหมดโดยให้เรียกเก็บภาษีอากรที่ได้รับยกเว้นทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ได้มอบหมายให้จัดเก็บภาษีจากจำเลยพยานรวบรวมเอกสารใบขนสินค้าได้จำนวน 20 ใบขน ประเมินภาษีอากรแล้วได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้นำมาชำระภาษีตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 158 พร้อมกับได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรโดยได้แจ้งภาษีอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าขณะนำสินค้าเข้ามาโดยแจ้งให้จำเลยมาชำระค่าภาษีภายใน 15 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือ กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87(2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว หากจำเลยเห็นว่า การประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 340 เสียก่อน แต่จากคำเบิกความของนายอุดมเดช ชาญชยศึกกรรมการของจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หลังจากที่ได้รับหนังสือจากโจทก์ที่ 1 แล้วไม่ได้อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากจำเลยย่อมถึงที่สุด จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษีอากรหรือไม่ เห็นว่า สำหรับอากรขาเข้ามีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ”สำหรับภาษีการค้ามีประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติว่า “ผู้ประกอบการค้าใดไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาตามส่วน 6ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “เงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89” สำหรับภาษีบำรุงเทศบาลมีพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติว่า “เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้ได้ทุกประเภทหรือเพียงบางประเภท คือ 1. ภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับ รวมทั้งสิ้น 17 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยยังมิได้ชำระ ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้านับแต่วันที่ได้ส่งมอบของให้จำเลยรับไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้เสร็จสิ้น นอกจากนี้จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้านับเมื่อพ้นสิบห้าวันถัดจากเดือนภาษีจนกว่าชำระเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มภาษีการค้านี้จะต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ และจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลอีกร้อยละสิบของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่ต้องชำระ
พิพากษายืน