แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของ ผู้จัดการ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ ได้สั่งถอนใบอนุญาตมิให้โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์มานานเกือบครึ่งปี ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือขอให้จำเลยพิจารณาเรื่องที่โจทก์ขอให้สั่งให้เปิดดำเนินการต่อไป จำเลยได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาโดยอาศัยเหตุผลต่างๆ แล้วยังไม่อนุญาตให้โจทก์ดำเนินการดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งแต่อย่างใด เพราะจำเลยได้ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้จัดการ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ จำเลยรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานการพิมพ์ บังอาจแจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลั่นแกล้งทำลายหมิ่นประมาทโจทก์ สั่งงดการอนุญาตมิให้โจทก์เป็นเจ้าของ ผู้จัดการบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ โจทก์ร้องไปยังกระทรวงมหาดไทยและกรมตำรวจ ขอให้พิจารณาสั่งให้โจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยสั่งให้จำเลยพิจารณาให้โจทก์ดำเนินการเพื่อประกอบอาชีพการพิมพ์ต่อไป แต่จำเลยหาได้สั่งไม่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบป้องกันขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่ง เสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 137, 157, 165, 172, 173, 174, 200, 326, 328, 59, 86, 90
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ฎีกาข้อ 2ข้อ 3 เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาข้อ 4 เห็นว่า ตามหนังสือปลัดกระทรวงมหาดไทยความว่า “บัดนี้ นายประพาส วัฒนเสรี ได้ยื่นคำร้อง… ฯลฯ เมื่อได้มีการลงโทษสั่งถอนใบอนุญาตกันมานานเกือบครึ่งปี ก็น่าจะเพียงพอสำหรับให้เกิดการเข็ดหลาบแล้ว…ฯลฯ.. แต่เรื่องนี้เป็นอำนาจของท่านในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์จังหวัดอุดรธานีที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม กรมตำรวจจึงเสนอเรื่องราวมาเพื่อพิจารณา ฉะนั้น จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาต่อไปตามควรแก่กรณี” นั้นเป็นการเพียงขอให้จำเลยพิจารณาเรื่องที่โจทก์ขอให้สั่งให้เปิดดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ต่อไปเท่านั้น ซึ่งจำเลยได้พิจารณาและบันทึกไว้ในหนังสือดังกล่าวว่า “การแสดงตนตามที่กรมตำรวจสืบสวนได้ ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นภัยต่อสังคม จึงให้รอดูความประพฤติไปก่อนจนกว่าจะไม่เป็นภัยแก่สังคม” ดังนี้ เห็นได้ว่า จำเลยได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาโดยอาศัยเหตุผลต่าง ๆ แล้ว การที่จำเลยยังไม่อนุญาตให้โจทก์เปิดดำเนินการตามความเห็นกรมตำรวจนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งแต่อย่างใดเพราะจำเลยได้ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย พิพากษายืน