คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อ ป.พ.พ. ลักษณะ 8 หมวด 2 ว่าด้วยการรับขนคนโดยสาร ไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบต่อคนโดยสารมีเฉพาะความเสียหายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้ขนส่งก็ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 โจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนกัน และโจทก์ได้โดยสารรถยนต์โดยสารของจำเลยเพื่อเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังกรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงจังหวัดตากรถยนต์โดยสารของจำเลยเกิดประสบอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายถึงสาหัส โจทก์รักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 และต่อมาบริษัทโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชำระเงินให้โรงพยาบาลดังกล่าวถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงินจำนวน 881,286.79 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และจากอาการบาดเจ็บดังกล่าว โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดเป็นเงินจำนวน 93,600 บาท และต้องทำกายภาพบำบัดไปตลอดชีวิตซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวน 156,000 บาท นอกจากนี้การที่โจทก์มีสภาพเหมือนคนทุพพลภาพไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ ทำให้โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 2,130,886.30 บาท แต่โจทก์คิดเพียง 2,000,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 577,891 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน อันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามสัญญารับขนนั้น รวมถึงค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ เห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 8 หมวด 2 ว่าด้วยการรับขนคนโดยสารไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบต่อคนโดยสารมีเฉพาะความเสียหายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้ขนส่งก็ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ต้องกลายเป็นคนที่ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติมีเพียงใด ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองจะยังไม่ได้วินิจฉัยมา แต่เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน และเห็นว่า แม้อาการกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณคอตึง ทำให้โจทก์แหงนหน้าไม่ได้ เอี้ยวคอไม่สะดวกและกลืนอาหารลำบากก็ตาม แต่ก็ได้ความจากใบรับรองแพทย์ ว่า อาการเจ็บป่วยดังกล่าวสามารถเยียวยาแก้ไขด้วยการออกกำลังกายส่วนคอ และอาการดังกล่าวแม้จะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของโจทก์บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นที่โจทก์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่โจทก์ฎีกาขอใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท นั้นจึงเป็นจำนวนที่สูงเกินไป พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และทางได้เสียของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมาแล้ว จำนวน 577,891 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 677,891 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 677,891 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 577,891 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 และของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2547) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share