คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต้องหาเรื่องทำร้ายร่างกายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจนได้มีคำสั่งจับของผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ครั้นเจ้าพนักงานพบจำเลยขี่รถจักรยานจึงได้จับจำเลย เช่นนี้แม้จะไม่มีหมายจับ ก็ย่อมจับจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(3) คือ จับโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี
นายร้อยตำรวจตรีผู้จับได้เข้าจับรถจักรยานที่จำเลยขี่อยู่ไว้ แล้วแจ้งข้อหาให้ทราบและว่าจำเลยอยู่ในระหว่างควบคุมตัวแล้ว ขอให้ไปที่สถานีตำรวจ ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหลบหนีการควบคุมของเจ้าพนักงาน เหตุเกิดที่ตำบลวังกระโจน อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดดังฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ลงโทษจำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามข้อเท็จจริงเจ้าพนักงานยังไม่มีอำนาจและยังไม่ได้ทำการจับกุมจำเลย แม้จำเลยจะหลบหนีไปก็ไม่ควรมีความผิด

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2503 จำเลยกับพวกได้ทำร้ายนายสิบตำรวจตรีวุทธิศาลพลตำรวจสุนทร และพลตำรวจสมบัติมีบาดเจ็บ เนื่องจากเจ้าพนักงานเหล่านั้นไปจับสุราผิดกฎหมายจากนายสว่างญาติของจำเลย จึงได้รายงานให้นายอำเภอและผู้บังคับกองตำรวจภูธรท้องที่ทราบ ต่อมาวันที่ 19 เดือนเดียวกัน นายสิบตำรวจตรีวุทธิศาลพบจำเลยขี่รถจักรยานไปทางสะพานดอนคอกและพบนายร้อยตำรวจตรีวีระขี่รถจักรยานมา นายสิบตำรวจตรีวุทธิศาลจึงบอกให้นายร้อยตำรวจตรีวีระทำการจับกุมจำเลยเพราะต้องหาว่าต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงาน นายร้อยตำรวจตรีวีระซึ่งได้เห็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้จับจำเลยในข้อหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานมาก่อนแล้ว จึงได้ตามไปจนทันแล้วจับรถจักรยานจำเลยไว้และแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบว่าต้องหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและว่าจำเลยอยู่ในระหว่างควบคุมตัวแล้ว ให้ไปที่สถานีตำรวจแล้วควบคุมตัวจำเลยไป พอถึงคอสะพานจำเลยก็จูงรถวิ่งลงสะพานแล้วขึ้นรถขี่ไปทางเกาะโพธิ์ เจ้าพนักงานจึงขี่รถตามไป พอจวนถึงสะพานเกาะโพธิ์นายสิบตำรวจตรีเสถียรซึ่งยืนอยู่ที่เชิงสะพานนั้นก็จับจำเลยไว้ได้ตามที่นายร้อยตำรวจตรีวีระขอให้ช่วย แล้วนำตัวส่งสถานีตำรวจ

ในปัญหาว่านายร้อยตำรวจตรีวีระมีอำนาจจับกุมจำเลยได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยต้องหาเรื่องทำร้ายร่างกายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จนได้มีคำสั่งจับของผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วครั้นเจ้าพนักงานพบจำเลยขี่รถจักรยานจึงได้จับจำเลยเช่นนี้ แม้จะไม่มีหมายจับก็ย่อมจับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(3) กล่าวคือ จับโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ถูกจับกุมควบคุมตัวตามกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่นายร้อยตำรวจตรีวีระได้เข้าจับรถจักรยานที่จำเลยขี่อยู่ไว้ แล้วแจ้งข้อหาให้ทราบและว่าจำเลยอยู่ในระหว่างควบคุมตัวแล้วขอให้ไปที่สถานีตำรวจนั้น ถือได้ว่าเป็นการจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ดังจะเห็นได้ว่าความตามมาตรานี้บัญญัติว่า ในการจับนั้นเจ้าพนักงานซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป อันหมายความว่า การจับนั้นอาจใช้วิธีละม่อม เชิญตัวให้ไปด้วยกันก็ได้ แต่ถ้าไม่น่าไว้ใจก็อาจใช้กำลังจับตัวนำไปก็ได้เหมือนกันมิใช่ว่าจะต้องจับตัวกันจริง ๆ ทุกกรณีไป จึงจะเป็นการจับตามกฎหมาย

พิพากษายืน

Share