คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ข้อ 22 ซึ่งกำหนดว่า “การจ่ายค่าทดแทนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน แต่การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจะทำได้ก็แต่โดยอนุมัติของอธิบดี กรมแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดี กรมแรงงาน มอบหมายเท่านั้น” เมื่อคดีของโจทก์ไม่ปรากฏว่าอธิบดี กรมแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดี กรมแรงงาน มอบหมายได้พิจารณาอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ในคราวเดียวเต็มจำนวนแล้ว ยังปรากฏจากคำขอบังคับแห่งคำฟ้องของโจทก์ว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน แสดงว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้จำเลยเป็นรายเดือนที่ศาล แรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวเต็มจำนวน จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน แต่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนซึ่งจำเลยเป็นประธานวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว โจทก์เห็นว่า โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนจำเลย ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยและมติของจำเลย และพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทน คือ ค่าทดแทนรายเดือนในอัตราร้อยละ ๖๐ ของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่โจทก์ไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน ๓ วัน โดยจ่ายนับแต่วันแรกที่โจทก์ไม่สามารถทำงานได้ คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ ไปจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ เป็นเวลา ๖ เดือน ซึ่งไม่เกิน ๑ ปี คิดเป็นเงินเดือนละ ๓,๖๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๑,๖๐๐ บาท ค่าทดแทนรายเดือนในอัตราร้อยละ ๖๐ ของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียเท้าซ้ายเป็นเวลา ๒ ปี ๙ เดือน ซึ่งไม่เกิน ๑๐ ปี เป็นเงินเดือนละ ๓,๖๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๑๘,๘๐๐ บาท และค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ค่าทดแทนที่โจทก์ฟ้องเรียกมาสูงเกินควร ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์กำลังเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้าง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและมติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่เกี่ยวข้องเสีย ให้จำเลยดำเนินการจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ กรณีไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน ๓ วัน เป็นเงิน ๒๑,๖๐๐ บาท กรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะคือเท้าขาดข้างหนึ่งเป็นเงิน ๑๑๘,๘๐๐ บาท และให้จำเลยดำเนินการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์อีกเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๗๐,๔๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วได้ความว่าบริษัทคั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด นายจ้างของโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนและโจทก์ในคดีนี้ก็ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน การจ่ายเงินทดแทนรายนี้จึงต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ ข้อ ๒๒ ซึ่งกำหนดว่า “การจ่ายค่าทดแทนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ฉบับลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ แต่การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจะทำได้ก็แต่โดยอนุมัติของอธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายเท่านั้น” เช่นนี้ การพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้ลูกจ้างคราวเดียวเต็มจำนวนจึงจะกระทำได้ต่อเมื่ออธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายได้อนุมัติคดีของโจทก์นอกจากจะไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายได้พิจารณาอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ในคราวเดียวเต็มจำนวนแล้ว ยังปรากฏจากคำขอบังคับแห่งคำฟ้องของโจทก์ ข้อ ๓ ว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ ๖๐ ของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียอวัยวะคือ สูญเสียเท้าซ้ายเป็นเวลา ๒ ปี ๙ เดือน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๑๘,๘๐๐ บาท ตามคำขอบังคับดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้จำเลยเป็นรายเดือน ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์คราวเดียวเต็มจำนวน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ ข้อ ๒๒ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าทดแทนกรณีที่โจทก์ต้องสูญเสียเท้าซ้ายให้จำเลยจ่ายในอัตราเดือนละ ๓,๖๐๐ บาท นับแต่วันที่โจทก์ประสบอันตรายถึงวันที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเป็นเงิน ๔๓,๒๐๐ บาท และชำระเป็นรายเดือนเดือนละ ๓,๖๐๐ บาท ต่อไปอีกมีกำหนด ๑ ปี ๙ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share