แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกโดยไม่มีพินัยกรรม จำเลยต่อสู้ว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้จำเลยดังนี้หน้าที่นำสืบตกแก่จำเลย เมื่อได้สืบพยานทั้งสองฝ่ายไปจนสิ้นกระแสความแล้ว โดยศาลชั้นต้นให้โจทก์นำสืบก่อนโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า หากจะพิจารณาใหม่โจทก์จะมีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบพิสูจน์หักล้างพยานหลักฐานจำเลย เกี่ยวกับพินัยกรรมอีก ดังนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องสั่งให้พิจารณาใหม่
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกของนางพริ้งตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องจากจำเลย 1 ใน 8 ส่วน ฐานเป็นทายาทรับมรดกแทนที่นางแดงมารดาอ้างว่านางพริ้งตาย มิได้ทำพินัยกรรม
จำเลยต่อสู้ว่านางพริ้งทำพินัยกรรมยกที่ดินบ้านและห้องแถวตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย 1-2-3 ให้จำเลย ส่วนทรัพย์หมายเลข 4-5-6 อยู่ที่จำเลยโจทก์ไม่เคยขอแบ่งจากจำเลย และว่านางแดงมารดาโจทก์มีบุตร 6 คน โจทก์มีสิทธิรับแทนที่ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำสืบก่อน ก่อนสืบพยานโจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่าที่ศาลสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนนั้นยังไม่ถูกต้อง จึงขอแถลงคัดค้านไว้เพื่อสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป
ศาลชั้นต้นเชื่อว่านางพริ้งได้ทำพินัยกรรมไว้จริง พิพากษาว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย 1-2-3 นางพริ้งได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลย คงให้เอาทรัพย์หมาย 4-5-6 ประมูลหรือขายทอดตลาดได้เงินเท่าไรให้เป็นของโจทก์ 1 ใน 6 ของ 1 ใน 8 ส่วน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีการวม 2 ข้อ คือ (1) ขอให้สั่งให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนและให้มีการพิจารณาใหม่ และ (2) ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรม
ฎีกาข้อ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยย่อมมีหน้าที่นำสืบก่อนจริงแต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์นำสืบก่อนและได้สืบพยานทั้งสองฝ่ายไปจนเสร็จสิ้นกระแสความ แล้วอีกประการหนึ่งก็ไม่มีเหตุสมควรเพราะในคำขอโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า หากพิจารณาใหม่โจทก์จะมีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบพิสูจน์หักล้างพยานหลักฐานจำเลยเกี่ยวกับพินัยกรรมนี้อีก คดีนี้จึงไม่จำเป็นจะสั่งให้พิจารณาใหม่อีก
ฎีกาข้อ 2 ศาลฎีกาฟังว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยจริง
พิพากษายืน