แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ลักทรัพย์ ++
++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ
++ ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แต่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์และยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ไปเช่นเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสามบัญญัติว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ และมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษเมื่อจำเลยให้การปฎิเสธและนำสืบว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ตัดเอาอ้อยจำนวน ๒๕ ไร่ราคา ๑๕๐,๐๐๐ บาท ของนางวราภรณ์ อภิชนางกูร ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางวราภรณ์ อภิชนางกูร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคหนึ่ง จำคุก ๑ ปี ทางนำสืบของจำเลยให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๘ เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย ข้อหาลักทรัพย์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อ ๒(ก) ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ครอบครองทรัพย์ โดยโจทก์ร่วมยอมให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองตลอดมา ความผิดฐานลักทรัพย์จึงเกิดขึ้นไม่ได้ และแตกต่างกับความผิดฐานยักยอกในข้อสาระสำคัญ และจำเลยหลงต่อสู้ ข้อเท็จจริงในคำฟ้องและทางพิจารณาจึงแตกต่างกัน และเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจรและทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้…” ดังนี้ เห็นว่าแม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกก็ตาม แต่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์และการกระทำผิดฐานยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเช่นเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มตรา ๑๙๒ วรรคสาม ดังกล่าวมาข้างต้น บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ และนำสืบว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ชอบที่ศาลล่างทั้งสองจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณา คือ ความผิดฐานยักยอกได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาในข้อ ๒(ค) ว่าศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกไม่ได้ เพราะคดีโจทก์ขาดอายุความโดยพิจารณาจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “ในครั้งที่โจทก์ร่วมมาดูไร่อ้อยไม่เห็นต้นอ้อย โจทก์ร่วมได้บอกจำเลยว่าขอแบ่งเงินค่าอ้อยจากจำเลย จำเลยบอกว่ายังไม่ได้เบิกเงินจากโรงงานหลังจากนั้นอีกประมาณ ๓ เดือน หลังจากที่ไม่ได้รับเงินจากจำเลยแล้วโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ” จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังที่เบิกเงินจากจำเลยไม่ได้แล้ว๓ เดือน จึงดำเนินคดีแก่จำเลย คดีของโจทก์ในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความ ลงโทษจำเลยไม่ได้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ที่ฟังว่าความผิดฐานยักยอกไม่ขาดอายุความไม่ถูกต้อง ทั้งคำเบิกความของโจทก์ร่วมมีพิรุธน่าสงสัยสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำเลยไม่เกิน ๕ ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้ให้
ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อ ๒ (ง)ว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์ แต่ในทางพิจารณากลับได้ความว่า โจทก์ร่วมร้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นส่วนจากการทำไร่อ้อย จึงแตกต่างจากคำฟ้องและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเพราะจำเลยหลงต่อสู้นั้นเห็นว่า แม้ในทางพิจารณาจะได้ความตามที่จำเลยอ้างในฎีกาดังกล่าวแต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม ดังกล่าวมาข้างต้นบัญญัติบังคับไว้ว่าข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ประกอบกับได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า คดีนี้จำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงไม่เป็นเหตุที่ให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.