คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์รวมมาโดย ล.เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเดิมได้โอนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองเป็นสัดส่วนตลอดมา เช่นนี้ หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาด้วยการครอบครองปรปักษ์ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครอง และคำขอท้ายฟ้องก็ไม่จำต้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ หรือขอให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินมีโฉนดตามฟ้อง และได้ครอบครองเป็นสัดส่วนตลอดมาตามรูปที่ดินท้ายฟ้อง โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว จำเลยไม่ยินยอม ขอให้ศาลพิพากษาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมจำเลยให้การว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยจริงแต่ปฏิเสธว่าโจทก์มิได้ครอบครองเป็นสัดส่วน รูปที่ดินท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง และจำเลยไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้ไปแบ่งแยก ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า “โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามเส้นสีดำ หมายสีเขียว หมายเลข 4 ในแผนที่พิพาทหรือไม่” จึงเป็นการถูกต้อง มิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด ส่วนประเด็นว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้วหรือไม่ นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าก่อนที่ ล. จะโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ ล. ได้เคยมีการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินทางทิศเหนือเป็นของ ล. แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ล.ก็ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่ขอแบ่งแยกให้แก่โจทก์เสียก่อน และโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยปลูกบ้านและทำรั้วเป็นสัดส่วนตามรูปที่ดินในแผนที่พิพาทตลอดมาโดยจำเลยมิได้คัดค้าน เมื่อโจทก์ยืนยันว่าได้บอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว และไม่ปรากฏว่าการขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนี้ได้กระทำในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามรูปคดีได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษานอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 6235 ตำบลบางจานอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 นางหลงหนูจัน จำเลยที่ 5 นางโต ขันเสนาะ และจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2509 นางหลงได้โอนขายเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ประมาณ 2 งานให้แก่โจทก์โจทก์เข้าครอบครองโดยปลูกบ้านและล้อมรั้วเป็นสัดส่วนตลอดมาตามรูปที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ครั้นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2517 นางโตได้โอนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อมาเดือนสิงหาคม 2527 โจทก์ประสงค์จะแบ่งแยกที่ดิน จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งหกไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยก แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกส่งมอบโฉนดที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ และร่วมไปจัดการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 2 งานให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า เดิมโฉนดที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของนางปาน แต่ผู้เดียว เมื่อนางปานตายมีนางทรัพย์แก่นจันทร์ นางหลง นางโต จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับโอนมรดกมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมานางหลงขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่189.30 ตารางวา โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด รูปที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ถูกต้อง โจทก์กำหนดขึ้นเองจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับมรดกส่วนของนางทรัพย์ จำเลยที่ 3และที่ 4 เป็นผู้ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนางโต จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4จึงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเพียงคนละ 94.65 ตารางวาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวจากโจทก์ให้ไปแบ่งแยกที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่คู่ความขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทแล้ว ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามเส้นสีดำหมายสีเขียว หมายเลข 4ในแผนที่พิพาทหรือไม่ เพียงใด และให้โจทก์นำสืบก่อน จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทคลาดเคลื่อนขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไขประเด็นพิพาทที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามฟ้องเฉพาะส่วนด้านทิศเหนือภายในกรอบเส้นสีดำหมายสีเขียว หมายเลข 4 ในแผนที่พิพาท เนื้อที่ประมาณ 1 งาน 75ตารางวา ให้เป็นของโจทก์ ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
จำเลยที่ 3 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 6235 ตามฟ้องโดยโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 1 ใน 5 ส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 189.60 ตารางวา แต่โจทก์นำชี้เฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือภายในกรอบเส้นสีดำ หมายสีเขียว หมายเลข 4 ในแผนที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 75 ตารางวา ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในข้อแรกมีว่า ตามหลักของการฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมจากกรรมสิทธิ์รวมนั้น จะต้องบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ได้เปลี่ยนการครอบครองร่วมกันมาเป็นการครอบครองเป็นส่วนสัดโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกินกว่า10 ปี รวมกับคำขอท้ายฟ้อง ให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ด้วย แต่ตามฟ้องจำเลยเห็นว่ายังไม่เป็นการเปลี่ยนเจตนาจากการครอบครองร่วมกันเป็นการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดต่างหาก ในกรณีเช่นนี้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอื่น ๆ ด้วย มิฉะนั้นจะขอแบ่งแยกไม่ได้ หากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่ยินยอม ก็ต้องนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเพียงประการเดียวเท่านั้น และในคำขอท้ายฟ้อง ก็มิได้ขอให้ศาลนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันแต่อย่างใด ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ก็ยอมรับแล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยที่นางหลงได้จดทะเบียนขายให้เฉพาะส่วนของนางหลง หาใช่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาด้วยการครอบครองปรปักษ์ดังที่จำเลยทั้งสี่อ้างไม่ และโจทก์ก็ได้บรรยายไว้อีกด้วยว่า ได้ครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดตลอดมาฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าได้เปลี่ยนการครอบครองดังที่จำเลยอ้าง ตลอดจนคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ไม่ต้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์หรือขอให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันแต่อย่างใด แม้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่ยินยอมก็ตามและศาลไม่จำต้องพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุที่จำเลยอ้าง ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เช่นนั้น ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกาในข้อต่อมาว่า การกะประเด็นของศาลชั้นต้นยังคลาดเคลื่อนทำให้จำเลยเสียเปรียบ จึงขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นใหม่นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยทั้งหกในโฉนดที่ดินดังกล่าวข้างต้นและได้ครอบครองเป็นส่วนสัดตลอดมา ตามแผนผังในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และโจทก์ต้องการแบ่งแยกที่ดินที่โจทก์ได้ครอบครองเป็นส่วนสัดออกจากโฉนดที่ดินเดิมซึ่งโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งหกร่วมกันไปทำการแบ่งแยกแล้ว แต่จำเลยทั้งหกไม่ยินยอม จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งหกไปจัดการแบ่งแยกตามความต้องการของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จริง แต่ปฏิเสธว่าโจทก์มิได้ครอบครองเป็นส่วนสัด รูปที่ดินท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้อง และจำเลยไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้ไปแบ่งแยก ฉะนั้นรูปคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นการถูกต้องมิได้ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เสียเปรียบแต่ประการใดสำหรับเรื่องการบอกกล่าวนั้น แม้จะมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไปแบ่งแยกที่ดินแล้วหรือไม่ก็ตามแต่โจทก์ก็ได้นำสืบไว้แล้วว่า ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 5ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ยอม จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไว้ ถึงแม้โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ทราบก็ตาม ได้ความว่าก่อนที่นางหลงจะโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนให้โจทก์ เจ้าของเดิมและจำเลยที่ 5 เคยยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินทางทิศเหนือเป็นของนางหลงแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการ นางหลงก็ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่ขอแบ่งแยกให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองโดยปลูกบ้านและทำรั้วเป็นส่วนสัดในที่ดินพิพาททางทิศเหนือตามเส้นสีดำหมายสีเขียว หมายเลข 4 ในแผนที่พิพาทตลอดมา จำเลยทุกคนก็ไม่ได้คัดค้านประการใด ในเมื่อโจทก์ยืนยันว่าได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว และไม่ปรากฏว่าการขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้กระทำในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามรูปคดีได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษานอกฟ้อง และศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในประการสุดท้ายข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนตลอดมาโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแนวเส้นสีดำ หมายสีเขียว หมายเลข 4 ในแผนที่พิพาท
พิพากษายืน

Share