แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225
ความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม ป.อ. มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ 3,000 บาท แก่เจ้าของ และริบของกลางทั้งหมด นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.6965/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง วรรคสาม, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ, 116 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 กระทงแรกฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองในคราวเดียวกันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทมีโทษเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,200,000 บาท กระทงที่สองฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ลงโทษจำคุก 4 ปี และปรับ 450,000 บาท กระทงสุดท้าย ฐานร่วมกันมีคีตามีนไฮโดรคลอไรด์ไว้ในครอบครอง ลงโทษจำคุก 15 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 45 ปี 12 เดือน และปรับ 1,100,000 บาท และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.6965/2546 ของศาลชั้นต้น ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 3,000 บาท แก่เจ้าของและริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 66 วรรคสอง) จำคุก 4 ปี และปรับ 450,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 300,000 บาท ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ร้อยตำรวจเอกธนูเทพ และดาบตำรวจสุรพล กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 ในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1 ซอง น้ำหนัก 0.820 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.752 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 3,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 25 ซอง 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 25 ซอง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 1 ซอง แม้จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงนำไปจำหน่ายให้แก่สายลับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,200,000 บาท ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 15 ปี คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 800,000 บาท ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำคุกคนละ 10 ปี รวมจำคุกคนละ 43 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 800,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี สำหรับโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์