แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 20 พฤษภาคม 2511 การนับอายุความฎีกาจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2511 กำหนดหนึ่งเดือนจึงสิ้นสุดในวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวัดแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น แต่ในวันดังกล่าวนี้เป็นวันหยุดราชการ จึงต้องนับถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2511 ซึงเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าในอายุความฎีกาด้วย
ปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และโจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์เป็นเพียงบุตรนอกสมรสของผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งผู้ตายได้แจ้งทะเบียนคนเกิดว่าเป็นบุตรของตน และอุปการะเลี้ยงดูโดยเปิดเผยตลอดมาเท่านั้น การที่ผู้ตายแจ้งทะเบียนคนเกิดว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของตนก็ดี หรือได้ทำการอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 ฉันบุตรตลอดมาก็ดี ก็หาทำให้โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายขึ้นมาไม่ เพราะบุตรนอกสมรสจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ก็ต้องเป็นไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ที่ 2 คงมีฐานะเป็นเพียงบุตรที่ผู้ตายรับรองแล้วตามมาตรา 1627 และมีเพียงสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) จึงไม่มีสิทธิได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ที่ทำให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ (อ้างฎีกาที่ 1259/2506)
เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็มิใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำศพผู้ตายจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภริยานายบักลิ้ม ผู้ร้องสอดเป็นโจทก์ร่วมเป็นมารดานายบักลิ้ม โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรโจทก์ที่ ๑ และนายบักลิ้ม จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มอบให้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทชนนายบักลิ้มถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ๓๕,๐๐๐ บาทให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบักลิ้ม และโจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่บุตรนายบักลิ้ม ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทำศพให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๙,๕๗๐ บาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๒ ๒๕,๐๐๐ บาท ฯลฯ
โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ใช้เงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายไว้ดังนี้ ปรากฏว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘ การนับอายุความฎีกาคดีนี้จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙ กำหนดหนึ่งเดือนจึงสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น แต่ในวันดังกล่าวนี้เป็นวันหยุดราชการ จึงต้องนับถึงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่เข้าในอายุความนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑ ฎีกาจำเลยจึงหาขาดอายุความไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าทำศพซึ่งเป็นค่าเสียหายได้ เพราะโจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายบักลิ้มผู้ตายนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ก็ดี แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความที่เกี่ยวข้องก็ย่อมยกขึ้นอ้างอิงได้ ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายบักลิ้มผู้ตาย โดยเป็นเพียงบุตรนอกสมรสของนายบักลิ้มผู้ตายกับโจทก์ที่ ๑ ซึ่งผู้ตายได้แจ้งทะเบียนคนเกิดว่าเป็นบุตรตนและอุปการะเลี้ยงดูโดยเปิดเผยตลอดมาเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายบักลิ้มผู้ตายแจ้งทะเบียนคนเกิดว่าเด็กหญิงวรรณาโจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรตนก็ดี หรือได้ทำการอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ ๒ ฉันบุตรตลอดมาก็ดี ก็หาทำให้โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายขึ้นมาได้ไม่ เพราะบุตรนอกสมรสจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ก็ต้องเป็นไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ที่ ๒ คงมีฐานะเพียงเป็นบุตรที่นายบักลิ้มผู้ตายได้รับรองแล้วตามมาตรา ๑๖๒๗ และมีเพียงสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) จึงไม่มีสิทธิได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ที่ทำให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๙/๒๕๐๖ ส่วนโจทก์ที่ ๑ เมื่อปรากฏว่าไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบักลิ้มผู้ตายแล้ว ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำศพผู้ตายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ใช้เงินตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น