คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญามีข้อความกล่าวเท้าถึงการจำนองที่โจทก์จำเลยทำกันไว้แต่เดิม จึงเห็นได้ว่า คู่กรณียังรับรองสัญญาจำนองที่ทำไว้เดิมแม้สัญญาจำนองจะมีกำหนดไถ่ถอนคืนกันภายใน 3 ปี เมื่อครบกำหนดโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิบังคับจำนอง ข้อความตามสัญญาฉบับหลังมีความว่าข้าพเจ้านายเวสขอทำสัญญารับเงินเพิ่มให้นายขาวซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินนาและสวนไว้ และมีข้อความยืนยันเพิ่มต่อไปในข้อ 1 แห่งสัญญาว่า’ขอรับเงินเพิ่มอีก 3,768 บาท’ และยังมีข้อสัญญาต่อไปอีกว่า ยอมให้จำเลยนำเงินที่จำนองเดิมกับเงินที่รับเพิ่มไปใหม่อีก 3,768 บาท มาใช้คืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ต่อไปอีกภายใน 2 ปี แสดงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองเอาเงินมาไถ่คืนไปได้ หาใช่ว่าจำเลยยอมตกลงจะขายที่ดินที่จำนองให้แก่โจทก์แต่อย่างเดียวไม่และข้อ 2 แห่งสัญญายังมีข้อความอีกว่า ให้ท่าน(โจทก์) เข้าครอบครองเก็บผลไม้ในสวนและทำนาแทนดอกเบี้ยและเงินเพิ่มต่อไป อันเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยมอบที่ดินให้ไว้เพื่อเป็นประกันเงิน ที่รับไปโดยการจำนอง
การเอาที่ดินใช้หนี้เงินกู้ที่จำนองเป็นประกัน ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง ผู้รับจำนองจึงไม่อาจขอให้บังคับผู้จำนองให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำนองไว้นั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สามีจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่นาที่สวน 2 แปลงไว้กับโจทก์เป็นเงิน 200 บาทกำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี จำเลยไม่ไถ่ถอน ต่อมาจำเลยทั้งสองตกลงจะขายที่นาที่สวนให้โจทก์โดยคิดราคาเพิ่มอีก 3,768 บาท จำเลยรับเงินไปแล้วโดยสัญญาว่า ถ้าจำเลยทั้งสองไม่นำเงิน 200 บาทตามสัญญาจำนองไปไถ่ถอนการจำนองและที่รับไปใหม่ตามราคาที่จำเลยคิดเพิ่มรวมเป็นเงิน 3,968 บาท ไปชำระแก่โจทก์ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2494 จำเลยยอมโอนที่นาและสวนให้โจทก์ จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ไถ่ถอนจำนองและชำระหนี้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่นาและสวนให้โจทก์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ไม่เคยตกลงจะขายหรือโอนที่ดินให้โจทก์ไม่เคยรับเงิน 3,768 บาท สัญญาท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมและไม่ใช่สัญญาจะซื้อขาย

วันนัดพิจารณา โจทก์ว่าเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาจะซื้อขายส่วนจำเลยเถียงว่าเป็นสัญญาขึ้นเงินจำนอง ทั้งสองฝ่ายขอให้ศาลตีความในสัญญา

ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่จำต้องสืบพยาน วินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.3 มิใช่สัญญาจะซื้อขาย พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาจะซื้อขายพิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองโอนที่นาและที่สวนตามหนังสือสัญญาให้แก่โจทก์ ฯลฯ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารหมาย จ.3 มีความว่า “ข้าพเจ้า นายเวสนาคสังข์ นางรวบ นาคสังข์….. ขอทำหนังสือสัญญารับเงินเพิ่มให้นายขาว มูลลักษณ์ ยึดถือไว้ฉบับหนึ่ง มีข้อความต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้าพเจ้ามีนา 1 แปลง สวน 1 แปลง…..ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขายขาดกรรมสิทธิ์ให้แก่ท่านโดยที่ 2 แปลงนี้ ข้าพเจ้าได้ขายจำนองตามหนังสือสัญญาจำนองลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2483 เป็นเงิน 200 บาทแต่บัดนี้ข้าพเจ้าขอรับเงินเพิ่มอีก 3,768 บาท ข้าพเจ้าขอให้สัญญาว่า ภายในสองปีนับแต่วันทำสัญญานี้ ข้าพเจ้าไม่นำเงินที่ขายจำนองและเงินเพิ่มซึ่งรับไปในวันนี้ 3,768 บาทมาชำระให้แก่ท่านภายในกำหนด 2 ปี ตามกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าจะไปทำสัญญาโอนสิทธิที่นาและที่สวนให้ท่านเป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายต่อคณะกรมการอำเภอเมืองชุมพรต่อไป

ข้อ 2 นับแต่วันทำหนังสือสัญญานี้ ให้ท่านเข้าทำครอบครองเก็บผลไม้ในสวนและทำนาแทนดอกเบี้ยและเงินเพิ่มต่อไป ข้าพเจ้าได้รับเงินเพิ่ม 3,768 บาท (สามพันเจ็ดร้อยหกสิบแปดบาทถ้วน) ไปจากท่านแต่วันทำหนังสือสัญญานี้แล้ว ฯลฯ” ท้ายหนังสือสัญญานี้ได้ลงลายมือชื่อจำเลยทั้งสองโดยระบุว่า ในฐานะเป็นผู้รับเงินเพิ่มและโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญานี้

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญา ข้อความกล่าวเท้าถึงการจำนองที่โจทก์จำเลยทำกันไว้เดิม จึงเห็นว่า คู่กรณียังรับรองสัญญาจำนองที่ทำไว้เดิม แม้สัญญาจำนองจะมีกำหนดไถ่ถอนคืนกันภายใน 3 ปี ครบกำหนดโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิบังคับจำนองข้อความตามสัญญาฉบับหลังขึ้นต้นมีความว่า ข้าพเจ้านายเวส นาคสังข์ ขอทำสัญญารับเงินเพิ่มให้นายขาวซึ่งเป็นผู้รับจำนอง และมีข้อความยืนยันเพิ่มเติมต่อไป ในข้อ 1 แห่งสัญญาว่า “ขอรับเงินเพิ่มอีก 3,768 บาท” และยังมีข้อสัญญาตกลงกันต่อไปอีกว่า ยอมให้จำเลยนำเงินที่จำนองเดิม (คือเงิน 200 บาท) กับเงินที่รับเพิ่มไปใหม่อีก 3,768 บาท มาใช้คืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ต่อไปภายใน 2 ปี อันแสดงว่าโจทก์ยังยอมให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จำนองเอาเงินมาไถ่เอานาและสวนกลับคืนไปได้ หาใช่ว่าจำเลยได้ยอมตกลงจะขายที่ดินที่จำนองให้แก่โจทก์อย่างเดียวไม่ เพราะยังมีข้อตกลงที่ยอมให้จำเลยนำเงินมาไถ่ถอนที่ดินจากโจทก์ได้อยู่ และในข้อ 2 ก็ยังมีข้อความอีกว่า ให้ท่าน (โจทก์) เข้าครอบครองเก็บผลไม้ในสวนและทำนาแทนดอกเบี้ย และเงินเพิ่มต่อไป อันเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยมอบที่ดินให้ไว้เพื่อเป็นประกันเงินที่รับไปโดยจำนอง แม้จะฟังดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความประสงค์จะขายที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ภายหลังที่กำหนดเวลา 2 ปีผ่านไปแล้ว กรณีก็เห็นได้ว่าแท้จริงเป็นการเอาที่ดินใช้หนี้เงินกู้ที่จำนองเป็นประกัน ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรค 2 โจทก์จึงไม่อาจที่จะขอให้บังคับจำเลยให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้จำนองไว้นั้นได้

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share