แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงานข้อ 43 กำหนดว่า “การลงโทษปลดออกนั้น จะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 41 และข้อ 42 แต่โทษยังไม่ถึงกับจะต้องถูกไล่ออก หรือถึงกับจะต้องถูกไล่ออก แต่มีเหตุผลอันควรลดหย่อน” การที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานช่างนำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปักเสา 2 ต้น และยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านหม้อแปลงให้แก่ผู้รับเหมา การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการผิดข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน หมวด 5 เรื่องวินัย ข้อ 38(3) ที่กำหนดว่า “ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ห้ามขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง…” แล้วยังต้องด้วยข้อ 41(3) ที่กำหนดว่า “ทุจริตต่อหน้าที่การงาน” ด้วยเพราะเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น คือผู้รับเหมาที่โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปักเสาและยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านให้ซึ่งมีโทษถึงไล่ออก ดังนั้นการที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยมีคำสั่งปลดออกจึงเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุการทำงานต่อจากอายุการทำงานเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการเลิกจ้าง และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 4,240 บาทเท่ากับอัตราค่าจ้างเดิม นับตั้งแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งพักงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท จำเลยให้การว่าโจทก์ได้ประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับและชอบธรรมตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปใช้โดยพลการเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ห้ามพนักงานซึ่งมิใช่พนักงานขับรถขับรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาและให้ใช้รถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการปฏิบัติงานเฉพาะกิจการเท่านั้น ตามคำสั่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ พ.86/2525 เรื่องใช้รถยนต์ในส่วนภูมิภาค โจทก์นำรถไปปักเสา 2 ต้น และยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านหม้อแปลงให้แก่ผู้รับเหมาในโรงเรียนม่วงมิตรวิทยาคม การกระทำของโจทก์เป็นการผิดข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าด้วยระเบียบพนักงาน หมวด 5 เรื่องวินัยข้อ 38(3) การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงมีเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหาได้ไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงานข้อ 43 กำหนดว่า”การลงโทษปลดออกนั้นจะกระทำได้ เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 41 และข้อ 42 แต่โทษยังไม่ถึงกับจะต้องถูกไล่ออกหรือถึงกับจะต้องถูกไล่ออกแต่มีเหตุผลอันควรลดหย่อน” การที่โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปักเสา 2 ต้น และยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านหม้อแปลงให้แก่ผู้รับเหมาในโรงเรียนม่วงมิตรวิทยาคมตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเป็นยุติแล้วนั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนั้น นอกจากจะเป็นการผิดข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงานหมวด 5 เรื่องวินัย ข้อ 38(3) ที่กำหนดว่า”ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ห้ามขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง” แล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนั้นยังต้องด้วยข้อ 41(3) ที่กำหนดว่า “ทุจริตต่อหน้าที่การงาน” ด้วย เพราะการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น คือผู้รับเหมาที่โจทก์นำรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปปักเสาและยกหม้อแปลงขึ้นบนคานนั่งร้านให้ซึ่งมีโทษถึงไล่ออก ดังนั้นการที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยมีคำสั่งปลดออกนั้น เป็นการลงโทษที่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน