คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่น สำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายและความผิดฐานขายหรือนำออกแสดงเพื่อขายซึ่งสุราดังกล่าว ทั้งสี่ฐานนี้แม้จะเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่าความผิดในแต่ละฐานต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน และสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีเป็นตอน ๆ ไป แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสี่ฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันคือ
ก. จำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันมีภาชนะเครื่องกลั่นสุราสำหรับทำสุรา คือ ถังต้มกลั่นสุราขนาด 200 ลิตร 1 ถัง ท่อนต่อเจาะรูข้าง 1 ท่อน แป้นต่อท่อรางริน 1 ชุด กระทะเหล็ก 1 ใบ ผ้าพันถัง 2 ชิ้น ขวดขาวใหญ่ 2 ขวด ถังพลาสติกขนาด 20 ลิตร 1 ถัง สายยาง1 เส้น เตาเหล็ก 1 เตา ถังตักน้ำ 1 ใบ ปิ๊บจำนวน 5 ใบ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตหรือเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้ทำการแทน
ข. จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันมีสุรากลั่นบรรจุขวดและถังพลาสติกมีปริมาณน้ำสุรารวม 20 ลิตร 100 มิลลิลิตร ไว้ในครอบครองโดยจำเลยทั้งสามกับพวกรู้อยู่แล้วว่าน้ำสุราดังกล่าวเป็นน้ำสุราที่ได้ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย
ค. จำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันมีสุราแช่บรรจุถังต้มกลั่น 1 ถังและบรรจุในปิ๊บ 5 ใบ รวมมีปริมาณน้ำสุรา 200 ลิตรไว้ในครอบครองโดยจำเลยทั้งสามกับพวกรู้อยู่แล้วว่าน้ำสุราดังกล่าวเป็นน้ำสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ง. จำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันทำสุราโดยทำเป็นสุรากลั่นบรรจุขวดขาว 2 ขวด มีปริมาณ 0.1 ลิตร และบรรจุถังพลาสติก 1 ใบมีปริมาณ 20 ลิตร รวมปริมาณน้ำสุรา 20 ลิตร 100 มิลลิเมตร ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตหรือเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้ทำการแทน
จ. จำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันทำสุราโดยทำเป็นสุราแช่บรรจุถัง 1 ถัง มีปริมาณน้ำสุรา 100 ลิตร และบรรจุปิ๊บ 5 ใบมีปริมาณน้ำสุรา 100 ลิตร รวมปริมาณน้ำสุรา 200 ลิตร ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตหรือเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้ทำการแทน
ฉ. จำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันขายหรือนำออกแสดงเพื่อขายซึ่งสุราที่จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันทำขึ้นและมีไว้ในครอบครองในฟ้องข้อ ข. ค. ง. จ. ให้แก่ผู้อื่นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 31, 32,45 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 5, 6ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 31, 32, 45พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 5, 6ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานร่วมกันมีภาชนะเครื่องกลั่นสุรา จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 3,000 บาท ฐานร่วมกันมีสุรากลั่นและสุราแช่ไว้ในครอบครองเป็นความผิดกรรมเดียว ปรับคนละ1,000 บาท ฐานทำสุรากลั่นและสุราแช่ เป็นความผิดกรรมเดียว จำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานร่วมกันขายสุรา ปรับคนละ 4,500บาท รวมโทษทุกกระทงจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,500 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในชั้นพิจารณาคดีเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,250 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ความผิดฐานทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสุราสำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาตความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายและความผิดฐานขายหรือนำออกแสดงเพื่อขายซึ่งสุราดังกล่าว ทั้งสี่ฐานนี้แม้จะเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน และบางฐานจะเป็นความผิดต่อกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษในมาตราเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่าความผิดในแต่ละฐานต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน และสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีเป็นตอน ๆ ไป แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสี่ฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share