คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1138/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าบิดาจำเลยกู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าบิดาจำเลยไม่ได้กู้เงินไปจากโจทก์ดังนี้ข้อความที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าบิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องหรือไม่ย่อมมีความหมายรวมไปถึงว่าบิดาจำเลยได้รับเงินแล้วหรือไม่ไม่จำต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าบิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์และรับเงินกู้ไปแล้วหรือไม่ บิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปตามเอกสารหมายจ.2และจ.6โดยเอกสารหมายจ.2ทำขึ้นในวันที่3กรกฎาคม2535มีข้อความว่า”ฯลฯข้อ1ฯลฯ1.1ผู้กู้ได้กู้ยืมเงินมาเมื่อวันที่22กุมภาพันธ์2533จำนวนเงิน2,025,000บาท(สองล้านสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)1.2ผู้กู้ได้กู้ยืมเงินมาเมื่อวันที่13มิถุนายน2533จำนวนเงิน590,000บาทฯลฯรวมเป็นเงินฯลฯ10,900,000บาท(สิบล้านเก้าแสนบาทถ้วน)ฯลฯข้อ3ผู้ให้กู้และผู้กู้ตกลงกันว่าเงินจำนวนกู้ทั้งหมดตามสัญญากู้นี้ผู้กู้จะชำระคืนให้เมื่อขายที่ที่สามเหลี่ยมทองคำฯลฯได้เสร็จเรียบร้อยแล้วฯลฯ”การที่โจทก์และบิดาจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกันก่อนหน้าที่โจทก์และบิดาจำเลยจะได้ทำเอกสารหมายจ.2ซึ่งตามข้อความในเอกสารหมายจ.2ก็ปรากฏชัดว่าบิดาจำเลยได้รับเงินไปก่อนแล้วทั้งเอกสารหมายจ.6ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันเอกสารหมายจ.2และจ.6จึงเป็นเพียงหลักบานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อบิดาจำเลยผู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653วรรคหนึ่งไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินแม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ หนี้ตามเอกสารหมายจ.2จำเลยให้การต่อสู้ว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้เลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าหนี้ตามเอกสารหมายจ.2ยังไม่ถึงกำหนดเพราะจำเลยยังไม่ได้ขายที่ดินฎีกาของจำเลยที่ว่าหนี้ตามเอกสารหมายจ.2ยังไม่ถึงกำหนดจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ หนี้ตามเอกสารหมายจ.6ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้โจทก์จะบอกกล่าวเพื่อให้เวลาแก่จำเลยหรือไม่ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา203โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้แม้ไม่ได้บอกกล่าวจำเลยให้ชำระหนี้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุณยเกียรติหรือชลอหรือวีระศักย์หรือบุญเกียรติหรือบุญยเกียรติหรือบุญยเกียรติ ประสาทไทยหรือปราสาทไทยหรือประสาทชัยหรือปราสาทชัยหรือประสาทไทย ณ อยุธยาหรือปราสาทไทย ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2527 นายบุญยเกียรติได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม2534 นายบุญยเกียรติได้ทำหนังสือรับว่าเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท และในวันเดียวกันนายบุญยเกียรติได้กู้ยืมเงินโจทก์อีกจำนวน 1,300,000 บาท ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม2535 นายบุญยเกียรติได้ทำหนังสือรับต่อโจทก์ว่า นายบุญยเกียรติได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์รวมหลายครั้งดังนี้ วันที่ 22 กุมภาพันธ์2533 เป็นเงิน 2,025,000 บาท วันที่ 13 มิถุนายน 2533เป็นเงิน 590,000 บาท วันที่ 25 กรกฎาคม 2534 เป็นเงิน3,500,000 บาทวันที่ 1 สิงหาคม 2534 เป็นเงิน1,600,000 บาท วันที่ 5 สิงหาคม 2534 เป็นเงิน 285,000 บาทวันที่ 1 กันยายน 2534 เป็นเงิน 2,000,000 บาท วันที่24 ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 300,000 บาท และวันที่ 24 มิถุนายน2535 เป็นเงิน 600,000 บาท ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535นายบุญยเกียรติถึงแก่กรรมและยังไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกให้ชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กล่าวคือตามเอกสารลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2527 จำนวนเงิน 200,000 บาทคำนวณดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา9 ปีเศษ แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี คิดเป็นดอกเบี้ย 75,000 บาทตามเอกสารลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 จำนวนเงิน 3,300,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือนคิดเป็นดอกเบี้ย 577,500 บาท และตามเอกสารลงวันที่3 กรกฎาคม 2535 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท 300,000 บาทและ 600,000 บาท ตามลำดับ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2534 วันที่ 24 ธันวาคม 2534 และวันที่ 24 มิถุนายน 2535 ตามลำดับ ถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย279,583.33 บาท 34,875 บาท และ 47,250 บาท ตามลำดับขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,536,708.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,100,000 บาทกับเงินจำนวน 3,877,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแต่ละสำนวนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญยเกียรติ ปราสาทไทย ณ อยุธยา แต่เอกสารฉบับลงวันที่3 กรกฎาคม 2535 เป็นเอกสารปลอม เพราะนายบุณยเกียรติไม่เคยกู้เงินโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะมีเงินให้กู้ได้ และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2527 นายบุณยเกียรติไม่ได้กู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท เพราะตามเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความว่า นายบุณยเกียรติกู้ยืมเงินโจทก์นอกจากนั้น>นายบุณยเกียรติไม่เคยกู้เงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท และ1,300,000 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถามก่อนฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุณยเกียรติ ปราสาทไทย ณ อยุธยา ชำระเงิน 14,200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,900,000 บาทนับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2535 และจากต้นเงิน 3,300,000 บาทนับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยจากต้นเงิน 10,900,000 บาท คิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 กรกฎาคม 2536) ต้องไม่เกิน 361,708.33 บาทและจากต้นเงิน 3,300,000 บาท คิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15พฤศจิกายน 2536) ต้องไม่เกิน 577,500 บาท ทั้งนี้ให้บังคับชำระจากกองมรดกของนายบุณยเกียรติ ปราสาทไทย ณ อยุธยา
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า บิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องหรือไม่ไม่ชอบ จะต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า บิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์และรับเงินกู้ไปแล้วหรือไม่เห็นว่า ข้อความที่ว่าบิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องหรือไม่ ย่อมมีความหมายรวมไปถึงว่าบิดาจำเลยได้รับเงินไปแล้วหรือไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว จำเลยฎีกาต่อไปว่า ข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่าบิดาจำเลยกู้เงินโจทก์ไปตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์สอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า บิดาจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ โดยไม่มีพยานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบิดาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปตามเอกสารหมาย จ.2 และจ.6 จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 เป็นสัญญากู้ เมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.2 ทำขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 มีข้อความว่า “ฯลฯ ข้อ 1 ฯลฯ 1.1 ผู้กู้ได้กู้ยืมเงินมาเมื่อวันที่22 กุมภาพันธ์ 2533 จำนวนเงิน 2,025,000 บาท(สองล้านสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) 1.2 ผู้กู้ได้กู้ยืมเงินมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2533 จำนวนเงิน 590,000 บาท ฯลฯรวมเป็นเงิน ฯลฯ 10,900,000 บาท (สิบล้านเก้าแสนบาทถ้วน) ฯลฯข้อ 3 ผู้ให้กู้และผู้กู้ตกลงกันว่าเงินจำนวนกู้ทั้งหมดตามสัญญากู้นี้ผู้กู้จะชำระคืนให้เมื่อขายที่ที่สามเหลี่ยมทองคำ ฯลฯได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฯลฯ” เห็นว่า โจทก์และบิดาจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกันก่อนหน้าที่โจทก์และบิดาจำเลยจะได้ทำเอกสารหมายจ.2 ตามข้อความในเอกสารหมาย จ.2 ก็ปรากฏชัดว่าบิดาจำเลยได้รับเงินไปก่อนแล้ว เอกสารหมาย จ.6 ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันฉะนั้นเอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 จึงเป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อบิดาจำเลยผู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้นไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงินฉะนั้นแม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่าสัญญากู้เงิน เอกสารดังกล่าวก็ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า หนี้ตามเอกสารหมาย จ.2 การบอกกล่าวของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยได้ขายที่ดินให้บริษัทเอ็มพีเวิลด์เทรดดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ หนี้ของโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดตามเอกสารดังกล่าวส่วนหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวจำเลย เห็นว่า หนี้ตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยให้การต่อสู้ว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้เลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าหนี้ตามเอกสารหมาย จ.2 ยังไม่ถึงกำหนดเพราะจำเลยยังไม่ได้ขายที่ดิน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนหนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ โจทก์จะบอกกล่าวเพื่อให้เวลาแก่จำเลยหรือไม่ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ แม้ไม่ได้บอกกล่าวจำเลยให้ชำระหนี้
พิพากษายืน

Share