แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ฟ้อง ข. แล้ว ข. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 773 ให้แก่โจทก์ เป็นเนื้อที่ครึ่งหนึ่ง ทางด้านหลังของที่ดิน และยอมให้ทางเดินเข้าออกแก่โจทก์ทางด้านตะวันออกของที่ดินเป็นเนื้อที่ 6 ศอก ศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว ข. ยังไม่ได้แบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามยอม ก็มาถึงแก่กรรมเสียก่อน โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปลงชื่อในคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน เพื่อขอรับโฉนดที่ดินที่ออกใหม่ แต่จำเลยไม่ยอมรับรองว่าที่ดินทางเดินกว้าง 6 ศอกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้ง 4 ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ห้ามจำเลยคัดค้านขัดขวางในการที่โจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของ ดังนี้ เท่ากับโจทก์อ้างว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่จำเลยทั้ง 4 กลับโต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ทางเดินของโจทก์ และคัดค้านขัดขวางในการที่โจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทางเดินดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 4 ละเมิดสิทธิของโจทก์ขึ้นใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยขึ้นเป็นคดีอีกคดีหนึ่งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ยื่นฟ้องขุนสุรมัทยากรบิดาของจำเลยทั้ง 4 ขอแบ่งที่ดินโฉนดที่ 773 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยขุนสุรมัทยากรให้ที่รายพิพาทครึ่งหนึ่งตอนด้านหลังกับให้ทางเดินกว้าง 6 ศอกไปจนจดถนนสาธารณะและศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว ปรากฏตามคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครปฐมหมายเลขแดงที่ 24/2501 โจทก์และขุนสุรมัทยากรร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดแบ่งแยกตามข้อตกลง ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2503 ขุนสุรมัทยากรถึงแก่กรรม จำเลยทั้ง 4 เป็นผู้รับมรดก โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้ง 4 ไปลงชื่อในคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินเพื่อขอรับโฉนดที่ออกใหม่ จำเลยทั้ง 4 ไม่รับรองว่าทางเดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยขัดขวางในการที่โจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ให้จำเลยทั้ง 4 ไปลงชื่อในคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินเพื่อออกโฉนดที่แบ่งแยกใหม่ถ้าจำเลยทั้ง 4 ไม่ไป ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นเครื่องแสดงเจตนาของจำเลยทั้ง 4
จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ให้การว่า โจทก์กับขุนสุรมัทยากร ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยแบ่งที่ดินคนละครึ่ง โจทก์ได้ด้านหลังจำเลยได้ด้านหน้า ขุนสุรมัทยากรยอมให้โจทก์เดินผ่านที่ดินของขุนสุรมัทยากรเข้าออกได้กว้าง 6 ศอก ทางเดินนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ขุนสุรมัทยากร
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษาว่า คำฟ้องของโจทก์อ้างสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ขอให้จำเลยทั้ง 4 ลงชื่อรับรองการทำรังวัด ทางเดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วย จำเลยทั้ง 4 ไม่ยอมลง เจ้าพนักงานที่ดินจึงขอคำสั่งศาลว่าจะจัดการประการใดศาลเรียกโจทก์จำเลยมาสอบถามและมีความเห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความหาได้มีเจตนายกกรรมสิทธิ์ทางเดินให้แก่โจทก์ไม่ คำร้องของโจทก์เป็นการขัดกับเจตนาของสัญญา ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าไม่อาจจัดการให้โจทก์ได้ สุดแต่จะดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เรื่องนี้เป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล อยู่ในข้อที่ได้รับการยกเว้น ไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(1) เมื่อศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ขึ้นไม่เป็นการต้องห้ามพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยทั้ง 4 ฎีกาว่า เป็นการฟ้องซ้ำ
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าขุนสุรมัทยากรทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งที่ดินที่โฉนดที่ 773 ให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ครึ่งหนึ่งทางด้านหลังของที่ดิน และยอมให้ทางเดินเข้าออกให้แก่โจทก์ทางด้านตะวันออกของที่ดินเป็นเนื้อที่ 6 ศอกด้วย ศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว ขุนสุรมัทยากรยังไม่ได้แบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ก็มาถึงแก่กรรมเสีย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นทายาทไปลงชื่อในคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินเพื่อขอรับโฉนดที่ออกใหม่จำเลยทั้ง 4 ไม่ยอมรับรองว่าที่ดินทางเดินกว้าง 6 ศอกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นการผิดความประสงค์ของขุนสุรมัทยากรและละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยคัดค้านขัดขวางคือ เท่ากับอ้างว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่จำเลยทั้ง 4 กลับโต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ดินทางเดินของโจทก์ และกลับคัดค้านขัดขวางในการที่โจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทางเดินดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 4 ละเมิดสิทธิของโจทก์ขึ้นใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยขึ้นเป็นอีกคดีหนึ่งได้
พิพากษายืน