คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1138-1139/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องคดีแพ่ง ไม่ต้องระบุการกระทำของจำเลยเป็นข้อๆ ไม่ต้องอ้างบทกฎหมายดังคดีอาญา ถ้าบรรยายสภาพแห่งข้อหาแจ้งชัดพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหา ศาลก็รับฟ้องไว้พิจารณาได้ ฟ้องไม่บรรยายตรงๆ ว่าจำเลยปิดกั้นทางสาธารณะ แต่บรรยายว่าเป็นทางที่ได้ร่วมกันอุทิศเป็นทางเดินประชาชนใช้ร่วมกันมา 100 ปีเศษ วิญญูชนเข้าใจได้แล้วว่าเป็นทางสาธารณะแม้จะบรรยายมาด้วยว่าเป็นทางภารจำยอม หรือทางจำเป็นฟ้องนั้นก็ไม่เคลือบคลุม
จำเลยปิดกั้นทางสาธารณะทำให้โจทก์ซึ่งมีที่ดินริมทางใช้ทางนั้นไม่ได้ โจทก์เสียหายเป็นพิเศษ จึงฟ้องให้เปิดทางได้
การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่จำต้องมีพิธีการ ถ้าโจทก์จำเลยและประชาชนใช้เป็นทางเดินสู่ทางสาธารณะร่วมกันมาหลายสิบปีก็ต้องถือว่าได้อุทิศโดยปริยาย
อุทิศที่ดินเป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว การสงวนสิทธิ์ภายหลังไม่มีผลอย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์แยกฟ้อง จำเลยคนเดียวกัน ขอให้เปิดทางเดินอันเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ทำการพิจารณา และพิพากษารวมกันไป

คดีแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 3601 ในซอยระหว่างซอยบางหลวงกับถนนไปวัดกัลยาณ์ บรรพบุรุษของโจทก์จำเลยและประชาชนได้ร่วมกันอุทิศที่ดินและช่วยกันออกเงินจัดทำสะพานไม้ทางเดินกว้าง 2 ศอก สูง 1 ศอก จากซอยบางหลวงข้ามคลองไปวัดกัลยาณ์ ทางนี้ต้องผ่านที่ดินของโจทก์และบุคคลอื่นอีกหลายคน และเป็นทางเดินหน้าบ้านโจทก์ ทั้งโจทก์จำเลยและประชาชนใช้เดินร่วมกันมาประมาณ 100 ปีเศษแล้ว กับยังได้ใช้น้ำในคลองวัดกัลยาณ์ตลอดมาดังปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเมื่อประมาณ 12 ปีมานี้ จำเลยได้ซื้อที่ดินของนายแจ่ม สำรวยจิตร์อันอยู่ตรงข้ามกับที่ดินจำเลยตามแผนที่ ซึ่งขณะนั้นโจทก์จำเลยและประชาชนก็ยังใช้สะพานไม้ดังกล่าวข้างต้นเดินไปมาร่วมกันได้ครั้นวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2497 จำเลยได้รื้อสะพานไม้ทางเดินทำรั้วสังกะสีและประตูปิดกั้น ทำให้โจทก์เดินไปมายังถนนวัดกัลยาณ์และใช้น้ำในลำคลองไม่ได้ โจทก์เคยขอร้องให้จำเลยเปิดทางหลายครั้ง จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตาม ทำให้โจทก์ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง จึงขอให้จำเลยรื้อหลังคาสังกะสี รั้วสังกะสี และประตูออก แล้วทำสะพานไม้เปิดให้ใช้เดินได้เช่นเดิมภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลพิพากษาแล้ว กับให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายแทนโจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงเปิดทางสาธารณะ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเป็นพิเศษยิ่งกว่าสาธารณะชนอื่น จึงไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์ก็เคลือบคลุม ไม่กล่าวว่าทางที่โจทก์ฟ้องเป็นทางสาธารณะทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น ทั้งไม่ได้กล่าวว่าทางนี้ผ่านที่ดินของจำเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ที่ดินตอนใดโจทก์ว่าจำเลยอุทิศให้เป็นเขตสะพาน ความจริง บรรพบุรุษจำเลย และจำเลยไม่เคยอุทิศที่ดินให้เป็นเขตสะพานไม้ทางเดินรายพิพาท และไม่เคยออกเงินช่วยทำสะพานไม้ที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทำชานไม้กว้างไม่ถึง1 ศอก สูงไม่ถึง 1 คืนที่หน้าบ้านจำเลย ซึ่งไม่มีสภาพเป็นสะพานทางเดิน และคนที่จะเดินผ่านได้ก็เฉพาะหมู่วงศ์ญาติมิตรสหายผู้รู้จักคุ้นเคย ประชาชนทั่วไปไม่ได้ใช้ชานไม้นี้และไม่มีผู้ใดได้ใช้เดินถึง 100 ปี ดังโจทก์ฟ้อง จำเลยได้ซื้อที่ดินจากนางแจ่ม สำรวยจิตร์ มากว่า 17 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยรื้อสิ่งที่โจทก์เรียกว่าสะพานไม้ ทางเดิน ส่วนรั้วและประตู จำเลยได้ทำไว้นานกว่า 17 ปีแล้ว จำเลยไม่ได้ปิดประตูตามวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ได้ไปร้องเรียนต่อเทศบาลนครธนบุรีและคณะกรมการอำเภอธนบุรีทางการสอบสวนแล้วสั่งว่า ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ทางสาธารณะ ทางการไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยเปิดทางได้ การที่จำเลยปิดกั้นรั้วไม่ยอมให้ผู้ใดอาศัยผ่านที่ดินของจำเลย ก็โดยได้รับอนุญาตจากทางการตำรวจให้ทำได้ จำเลยได้สงวนสิทธิโดยชัดแจ้งว่าไม่ใช่ทางสาธารณะผ่านที่ดินจำเลย ไม่มีผู้ใดคัดค้านมาเกิน 10 ปีแล้วคดีจึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง หากโจทก์จะใช้น้ำในคูวัดหรือเดินไปทางวัดกัลยาณ์ ก็มีทางอื่นเดินได้อยู่แล้ว จึงขอให้ศาลยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียม ค่าทนายแก่จำเลย

คดีที่สองโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 956 อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ติดอยู่กับที่ดินจำเลย หน้าที่ดินของโจทก์มีสะพานไม้ทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 1 ศอกโจทก์และประชาชนใช้สะพานไม้นี้เดินไปมาเข้าออก ข้ามไปถนนคอนกรีตวัดกัลยาณ์ร่วมกันมาหลายสิบปีแล้ว ไม่มีการสงวนสิทธิหรือหวงห้ามแต่ประการใดดังสำเนาแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2497 จำเลยได้ทำหลังคาคร่อมสะพาน ทำรั้วสังกะสีและประตูปิดกั้นสะพานไม้ทางเดินเสีย เจ้าของที่ดินที่สะพานไม้ผ่านเอาอย่างตาม ไม่ยอมให้ผ่านสะพานตอนที่ดินของเขา โจทก์ไม่มีทางเดินไปออกวัดกัลยาณ์หรือทางอื่นใดได้ อาศัยที่สะพานไม้นี้ได้เคยใช้เปิดให้โจทก์และประชาชนใช้เดินร่วมกันมาหลายสิบปีแล้วสะพานไม้ทางเดินนี้จึงเป็นทางภารจำยอม และทางจำเป็นเพราะโจทก์ไม่มีทางอื่นที่จะออกได้เลย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเดือนร้อนมาก จึงขอให้ศาลพิพากษา บังคับให้จำเลยเปิดสะพานไม้ให้โจทก์ใช้เดินได้เช่นเดิม ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายแทนโจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ว่า หน้าที่ดินโจทก์จะมีสะพานไม้ทางเดินหรือไม่ไม่ทราบ สิ่งที่โจทก์เรียกนั้นไม่ใช่สะพานไม้ เป็นชานไม้ติดต่อกับบ้านสำหรับวงศ์ญาติมิตรผู้รู้จักคุ้นเคยเดินไปมาหาสู่กันโจทก์และประชาชนไม่ได้ใช้สะพานไม้เดินไปมาเข้าออกข้ามไปถนนคอนกรีตวัดกัลยาณ์ เขตที่ดินของจำเลย จำเลยได้สงวนสิทธิและหวงห้ามไว้ชัดแจ้งเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ผู้ใดจะเดินผ่านต้องได้รับอนุญาตจากจำเลย จึงจะผ่านได้ คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว หลังคา รั้วสังกะสี และประตูจำเลยได้ทำลงในเขตที่ดินของจำเลยกว่า 17 ปีแล้ว ครั้นในเดือนกันยายน 2497 มีผู้ขว้างปาบ้านเรือนจำเลย จำเลยจึงไม่ยอมอนุญาตให้ผู้ใดเดินผ่านที่ดินของจำเลยต่อไป โจทก์อาจเดินไปสู่ซอยบางหลวงอันเป็นทางสาธารณะได้อยู่แล้ว จำเลยขอตัดฟ้องในข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ว่าสะพานทางเดินหน้าที่ดินโจทก์เป็นทางภารจำยอม โดยไม่กล่าวว่าเป็นภารจำยอมแก่สามยทรัพย์ใด และตอนใดตกเป็นภารยทรัพย์ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจฟ้องได้ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้กล่าวว่าได้ทางภารจำยอมมาโดยวิธีใด ฟ้องโจทก์จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ทางจำเป็นต้องเป็นทางที่จะออกไปสู่ทางสาธารณะหรือทางหลวง แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่า ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หากโจทก์อยู่ในที่ล้อมจริงก็ชอบที่จะฟ้องผู้ที่ปิดกั้นไม่ให้โจทก์ออกไปสู่ทางสาธารณะ หรือทางหลวงไม่ใช่เลือกฟ้องตามใจชอบ จึงขอให้ศาลยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียม ค่าทนายแทนจำเลย

ศาลชั้นต้นสั่งให้จ่าศาลทำแผนที่กลางขึ้น แล้วให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสอง

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า บ้านโจทก์ทั้งสองคนอยู่ติดทางพิพาทและติดบ้านจำเลย ทางพิพาทเดิมเป็นทางไม้ยกสูงจากพื้นดินศอกกว่าบางตอนปูกระดานตามยาว 2 แผ่นบ้าง 3 แผ่นบ้าง บางตอนทำเป็นลูกระนาด ทางนี้เชื่อมซอยบางหลวง ซึ่งเป็นทางสาธารณะ กับสะพานข้ามคูวัดกัลยาณ์ และผ่านที่โจทก์จำเลยกับบุคคลอื่นหลายคนประชาชนใช้เดินกันทั่วไปตลอดมาเป็นเวลากว่า 50 ปี เพิ่งถูกจำเลยปิดเมื่อกลางปี พ.ศ. 2497 ที่ดินโฉนดที่ 2330 เดิมเป็นของจางวางทั่ว บิดาจำเลยแล้วจึงตกมาเป็นของจำเลย ที่นี้อยู่ติดสะพานทางเดินรายพิพาท และเดิมมีรั้วไม้อยู่ติดสะพานตลอดแนวสะพานที่คนละฟากสะพานรายพิพาทตรงข้ามกับที่ของจำเลย เดิมเป็นของนายเนียม เมื่อนายเนียมตาย ที่นี้ตกเป็นของนางแจ่ม บุตรนายเนียมนางแจ่มได้ขายที่แปลงนี้ให้กับจำเลยเมื่อ 15-16 ปีมานี้ ขายแล้วสัก 2 ปี นางแจ่มจึงรื้อเรือนไป แล้วจำเลยได้ปลูกบ้านลงในที่ที่ซื้อจากนางแจ่ม และใช้บ้านนี้ขายกาแฟและของเล็ก ๆ น้อย ๆขายอยู่สัก 2 ปีก็เลิก แล้วให้แจ๊กเช่าอยู่ประมาณ 4-5 ปี เมื่อเจ๊กไปแล้ว จำเลยไม่ได้ให้ใครอยู่อีก เมื่อจำเลยขายกาแฟหรือตอนให้เจ๊กเช่าบ้าน จำเลยได้เสริมสะพานรายพิพาทให้กว้างขึ้นก่อนจำเลยปิดทางโจทก์และคนในบ้านโจทก์ใช้สะพานนี้เป็นทางไปใช้น้ำในคู หรือคลองวัดกัลยาณ์ ซึ่งสะดวกกว่าไปทางซอยบางหลวง โจทก์ไม่เคยเห็นใครที่เดินผ่านทางพิพาทขออนุญาตจำเลย ทางปูนที่ต่อทางพิพาทในเขตวัดกัลยาณ์ประชาชนใช้เดินกันทั่ว ๆ ไป ทางจากบ้านจำเลยไปออกซอยบางหลวงเพิ่งมีมาเมื่อรวม 15-16 ปี

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า ที่ดินโฉนดที่ 2330 เดิมเป็นของจางวางทั่วบิดาจำเลย แล้วตกเป็นของจำเลย ทางพิพาทอยู่ในเขตโฉนดรายนี้ที่ดินที่อยู่ตรงกันข้ามนางแจ่มรับมรดกนายเนียม และได้ขายให้จำเลยเมื่อ พ.ศ. 2481 ที่นี้มีโฉนดเลขที่ 2830 เมื่อ พ.ศ. 2482 จำเลยปลูกบ้านใหม่ในที่ที่ซื้อจากนางแจ่ม และได้ทำชานหน้าบ้านใหม่เชื่อกับชานหน้าบ้านเก่า โฉนดที่ 2330 นั้น แล้วทำหลังคาคลุมชานนั้น ซึ่งตรงกับทางพิพาทที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนั้นจำเลยได้ทำซุ้มประตูไม่มีบาน คร่อมทางพิพาททั้งสองด้านเป็นที่บอกเขตและได้ติดป้ายไว้ปากทางด้านวัดกัลยาณ์ว่าเป็นทางบุคคลสงวนสิทธิไม่ใช่ทางสาธารณะ ก่อนทำซุ้มประตูทางพิพาทไม่มีอะไรกั้น บ้านที่จำเลยปลูกใหม่ในที่ที่ซื้อจากนางแจ่มนั้น จำเลยเคยให้นายลุ้ย นายจุ๊ยอาศัย เมื่อคนทั้งสองไปแล้ว จำเลยค้ากาแฟและของชำที่บ้านนั้นอยู่ราว 2 ปี จนสงครามเลิก แล้วได้ให้นายปาเช่าอยู่ 8 ปี ในพ.ศ. 2484 เจ้าพนักงานที่ดินไปสำรวจโฉนดที่ดินจำเลยไม่ปรากฏว่ามีทางภารจำยอมหรือทางสาธารณะผ่าน คนที่อาศัยเดินผ่านที่พิพาทต้องขออนุญาตจากจำเลย เมื่อจำเลยทำรั้วขวางถึงซุ้มประตูแล้ว แต่แรกยังปล่อยช่องประตูให้ผ่านได้ต่อมามีคนเอาจักรยานผ่านจำเลยห้าม ก็มีคนข้างบ้านจำเลย จำเลยไปบอกตำรวจ ตำรวจแนะนำให้ปิดประตูบ้าน จำเลยจึงปิด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนมีประเด็นต่างกัน จึงแยกวินิจฉัยตอนละสำนวน ในสำนวนคดีดำที่28/2498 ซึ่งนางผิวเป็นโจทก์ และจำเลยให้การตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าทางพิพาทนั้นบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะเขต ทางได้อุทิศให้ประชาชนใช้ร่วมกันมาประมาณ 100 ปีเศษ จำเลยมาปิดกั้น จึงขอให้เปิดเช่นนี้ มีความหมายชัดอยู่ว่าโจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะไม่มีประเด็นเรื่องทางภารจำยอมและทางจำเป็น ส่วนที่ว่าทางพิพาทเป็นทางตอนใดในที่ของจำเลย โจทก์ก็ได้แสดงไว้ในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมในเรื่องอำนาจฟ้องถ้าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะดังโจทก์ฟ้องจริงโจทก์ซึ่งมีบ้านอยู่ติดทางพิพาทย่อมขาดสิทธิที่จะเดินผ่านที่นั้นตามปกติได้จึงเป็นผู้เสียหายยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป มีอำนาจฟ้องได้ ส่วนปัญหาที่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ คดีฟังได้ในเบื้องต้นว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย และในโฉนดที่ดินตลอดจนหลักฐานต่าง ๆ ไม่มีกำหนดว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงต้องพิจารณษต่อไปว่าได้มีการอุทิศให้ทางนี้เป็นทางสาธารณะโดยตรงหรือโดยปริยายหรือไม่ ตามลักษณะของทางพิพาทซึ่งปรากฏตามแผนที่ที่เจ้าพนักงานศาลไปทำมา ปลายสองข้างต่อทางพิพาทเป็นทางไม้ยกขึ้นสูง ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับทางพิพาทก่อนจำเลยรื้อทางไม้ทางสายนี้ผ่านบ้านบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งโจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นทางที่อำนวยความสะดวกแก่บุคคลเหล่านั้นที่มาสู่คลองวัดกัลยาณ์และประกอบกิจทางศาสนากับวัด คนทั่วไปได้ใช้ทางสายนี้มาก่อนจำเลยหวงกันสิทธิอยู่หลายสิบปี จึงเชื่อว่าได้มีการอุทิศให้ทางนี้เป็นสาธารณะโดยปริยายก่อนจำเลยหวงกันสิทธิ เมื่อทางพิพาทเคยเป็นทางสาธารณะมาก่อน ก็ย่อมตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305, 1306 การแสดงหวงกันสิทธิของจำเลยซึ่งเพิ่งกระทำเมื่อ พ.ศ. 2482 ย่อมไม่มีผล จำเลยจึงไม่มีอำนาจปิดกั้นทางพิพาท

สำหรับคดีดำที่ 61/2498 ซึ่งนายเทียบ คงลายทอง เป็นโจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นนั้น นายเทียบให้การว่าได้มาอยู่บ้านที่ตนฟ้องนี้ก่อนจำเลยซื้อที่นางแจ่ม4-5 ปี ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินของโจทก์ ในเรื่องทางจำเป็นก็ปรากฏตามแผนที่พิพาทว่า โจทก์มีทางอื่นออกไปสู่ซอยบางหลวงซึ่งเป็นทางสาธารณะได้อยู่แล้วที่ของโจทก์มิได้ถูกล้อม ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้นแต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องอยู่ว่า ทางพิพาทนี้โจทก์และประชาชนได้ใช้ร่วมกันมาหลายสิบปี ไม่มีการหวงห้าม ขอให้บังคับให้จำเลยปิด ต้องหมายถึงว่า โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะอยู่ด้วย โจทก์จึงมีส่วนชนะคดีโดยคำวินิจฉัยที่กล่าวในสำนวนคดีดำที่ 28/2498 ข้างต้น จึงพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานศาลทำขึ้น โดยให้มีความกว้างเท่าส่วนทางสะพานที่มาต่อทางพิพาท แต่ไม่เกิน 1 เมตร ตามคำฟ้องเพื่อให้ใช้เดินได้ดังเดิม สำหรับหลังคาไม่ปรากฎในคำฟ้องของโจทก์ศาลไม่กล่าวถึง ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียม ค่าทนาย 100 บาทแทนนางผิวโจทก์ ส่วนค่าธรรมเนียม ค่าทนายในคดีนายเทียบ โจทก์ซึ่งแพ้คดีในบางส่วน ให้เป็นพับ สำหรับค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีร่วมของโจทก์ทั้งสองให้ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมที่จำเลยต้องใช้แทน

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วคงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นอุทธรณ์สำนวนละห้าสิบบาทแก่โจทก์ จำเลยจึงฎีกาคัดค้านต่อมาว่า

1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

2. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

3. ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่

4. ฟ้องของนายเทียบ คงลายทอง โจทก์ มีประเด็นในเรื่องทางสาธารณะที่ศาลจะพิพากษาให้ได้หรือไม่

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน ฟังคำแถลงการณ์ของฝ่ายโจทก์จำเลยและประชุมปรึกษาแล้ว จะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ตามฎีกาข้อแรกของจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า หากทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ถ้าโจทก์แสดงได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย เป็นพิเศษกว่าสาธารณชนคนอื่น ๆ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยระงับความเสียหายนั้นได้ ทั้งนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ในคดีที่นางผิว เหล่าประเสริฐ เป็นโจทก์นั้น โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์จำเลยและประชาชนได้ใช้ทางพิพาทร่วมกันมาประมาณ 100 ปีเศษแล้ว การที่จำเลยปิดกั้นทางเดินนั้นทำให้โจทก์เดินไปมายังถนนวัดกัลยาณ์และใช้น้ำในลำคลองไม่ได้ ทั้งนี้ย่อมหมายความอยู่ในตัวว่าโจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะและการที่จำเลยปิดทางนั้นทำให้โจทก์เดินไปมายังถนนวัดกัลยาณ์และใช้น้ำในลำคลองไม่ได้ อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษยิ่งกว่าสาธารณชนคนอื่น ๆ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องได้ แต่การวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องได้ ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะต้องชนะคดี ซึ่งเป็นปัญหาคนละส่วนอันควรเอาไว้วินิจฉัยภายหลัง ในคดีที่นายเทียบ คงลายทอง เป็นโจทก์ก็เช่นเดียวกันโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์และประชาชนได้ใช้สะพานรายพิพาทซึ่งติดอยู่กับสะพานไม้หน้าที่ดินของโจทก์ร่วมกันมาหลายสิบปีแล้วซึ่งย่อมหมายความว่า โจทก์อ้างว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะนั่นเองและโจทก์กล่าวต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะโจทก์ไม่มีทางเดินไปออกวัดกัลยาณ์หรือทางอื่นได้ ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะยิ่งกว่าสาธารณชนอื่น ๆ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า นายเทียบมีอำนาจฟ้องคดีได้ เช่นเดียวกัน ฎีกาข้อแรกของจำเลยจึงตกไป

ฎีกาข้อสองของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น จำเลยกล่าวว่าฟ้องโจทก์ไม่ชัดทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้ได้เต็มที่ทั้งโจทก์สืบไม่ได้ตามฟ้องว่า ใครอุทิศที่ตอนใด ให้เป็นทางสาธารณะศาลฎีกาเห็นควรกล่าวเสียก่อนว่า ที่จำเลยอ้างถึงเรื่องการนำสืบของโจทก์นั้นไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องการนำสืบในชั้นนี้ปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาข้อสองมีอยู่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาหรือไม่ เท่านั้น เพราะการบรรยายฟ้องในคดีแพ่งนั้น โจทก์ไม่จำเป็นจะต้องตั้งข้อหาระบุการกระทำของจำเลยเป็นข้อ ๆ ตลอดจนอ้างบทกฎหมายประกอบฟ้องทุกลักษณะมาตราเหมือนดังฟ้องคดีอาญา ถ้าโจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาโดยแจ้งชัดพอที่จะให้จำเลยเข้าใจ ศาลก็อาจรับฟ้องนั้นไว้พิจารณาได้ ในคดีเฉพาะหน้าทั้งสองคดีนี้ แม้โจทก์ไม่ได้ระบุในฟ้องตรง ๆ ณ ที่ใดเลยว่าจำเลยปิดกั้นทางสาธารณะ เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้ว วิญญูชนก็อาจเข้าใจได้ว่า โจทก์หาว่าจำเลยปิดกั้นทางสาธารณะนั้นเอง เพราะในคดีแรกนางผิว โจทก์อ้างว่า บรรพบุรุษของโจทก์ จำเลย และประชาชนได้ร่วมกันอุทิศที่ดินทำสะพานไม้ทางเดินระหว่างซอยบางหลวงและวัดกัลยาณ์ และโจทก์จำเลยกับประชาชนได้ใช้ทางนี้ร่วมกันมาประมาณ 100 ปีเศษแล้ว จึงไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าโจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือเป็นทางภารจำยอม เพราะถ้าโจทก์จะฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น โจทก์ก็ต้องกล่าวว่าที่ของตนถูกปิดล้อมไม่มีทางไปสู่ทางสาธารณะ และถ้าจะอ้างว่าเป็นทางภารจำยอมโจทก์ก็ต้องระบุว่าเป็นภารจำยอมอย่างไร เพื่อประโยชน์ของที่ดินแปลงใด ส่วนในคดีที่นายเทียบเป็นโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และประชาชนใช้สะพานรายพิพาทเดินไปมาเข้าออกข้ามไปถนนวัดกัลยาณ์ร่วมกันมาหลายสิบปีแล้ว การที่จำเลยปิดกั้นทางนี้ทำให้โจทก์ได้รับความเดือนร้อนมาก ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเช่นเดียวกัน แต่นายเทียบได้กล่าวในฟ้องต่อไปด้วยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมซึ่งศาลล่างทั้งสองเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบ จึงได้ยกข้อหาเรื่องทางจำเป็นและทางภารจำยอมนั้นเสีย คงพิพากษาให้นายเทียบชนะคดีในฐานที่อ้างว่าโจทก์ปิดทางสาธารณะอย่างเดียวการที่โจทก์ทั้งสองคดีไม่กล่าวออกมาตรง ๆ ในฟ้องของตนว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ น่าคิดว่าโจทก์อาจเกรงว่า คำกล่าวอ้างเช่นนั้นจะขัดกับความเห็นของเทศบาลนครธนบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีอันจะทำให้รูปคดีของตนเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรี ที่ 12788/2497 ลงวันที่ 7 ธันวาคมพ.ศ. 2497 ที่มีไปยังนายกเทศมนตรีนครธนบุรีและรวมอยู่ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 28/2498 ของศาลแขวงธนบุรี จะเห็นได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีเพียงแต่กล่าวว่า ทางรายพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลย ซึ่งเจ้าของยังมิได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะคือไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าเจ้าของได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะเท่านั้น แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีก็ไม่ได้ปิดทางเสียเลยจึงได้กล่าวในตอนสุดท้ายแห่งหนังสือฉบับนั้นว่า จังหวัดได้แนะนำให้ผู้ร้องไปดำเนินคดีทางแพ่งกันต่อไป โจทก์จึงได้ดำเนินคดีทั้งสองนี้ขึ้น สำหรับปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในตอนอื่น ๆ อีกหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้ระบุข้อความและแสดงลงไว้ในแผนที่ประกอบฟ้องแล้วว่า เส้นทางเดินระหว่างซอยบางหลวงและถนนไปวัดกัลยาณ์เป็นทางสาธารณะ และที่ที่โจทก์ปิดกั้นอยู่ตอนใดในทางนั้น จำเลยจึงอาจเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและต่อสู้คดีได้โดยไม่ผิดหลง ฎีกาข้อสองของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงฟังไม่ขึ้น

ฎีกาข้อสามของจำเลยที่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่นั้น ปรากฏว่าในการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้อ้างเอกสารทางราชการของจังหวัดธนบุรีรวม 11 อันดับ เรื่องโจทก์ทั้งสองและราษฎรรวม 26 คน ร้องว่าได้รับความเดือนร้อนที่จำเลยปิดกั้นทางเดินซึ่งทางราชการจังหวัดธนบุรี เทศบาลนครธนบุรี และกรมที่ดินได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าทางที่จำเลยปิดกั้นนั้นอยู่ในโฉนดของนายเทวาประสิทธิ์ จำเลยซึ่งชาวบ้านได้อาศัยเดินมา 20 ปีเศษ แต่ในโฉนดที่ดินไม่ปรากฏว่ามีทางสาธารณะ ทั้งนายเทวาประสิทธิ์ก็ไม่ยอมยกให้เป็นทางสาธารณะ จังหวัดไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้เปิดเป็นทางเดินได้จึงแนะนำให้ผู้ร้องดำเนินคดีแพ่งเอาเอง ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบว่า ทางระหว่างซอยบางหลวงอันเป็นทางสาธารณะ กับถนนข้ามคลองหรือคูวัดกัลยาณ์ไปสู่ถนนคอนกรีตในวัดนั้น ผ่านที่ดินโจทก์ทั้งสองและจำเลยกับที่ดินบุคคลอื่นอีกหลายคน โจทก์จำเลยและประชาชนได้ใช้ทางนี้ร่วมกันมา 50 ปีเศษแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางระหว่างบ้านนางผิว นายเทียบโจทก์ผ่านที่จำเลยไปใช้น้ำในคลองวัดกัลยาณ์ฝ่ายจำเลยยอมรับว่าทางพิพาทตอนหน้าบ้านเดิมจำเลยนั้น คนที่เป็นญาติมิตรหรือคุ้นเคยกับจำเลยได้ใช้ผ่านมาตั้งแต่ก่อนจำเลยซื้อที่นางแจ่มเมื่อ พ.ศ. 2481 เมื่อซื้อที่นางแจ่มแล้ว จำเลยทำรั้วและซุ้มประตูกั้นทางพิพาททั้งสองด้านเมื่อ พ.ศ. 2482 เพื่อแสดงเขตของจำเลย แต่ก็ยังเปิดช่องประตูไว้ จำเลยเพิ่งปิดประตูไม่ให้คนผ่านเมื่อ พ.ศ. 2497 เมื่อได้พิจารณาแผนที่กลางที่เจ้าพนักงานศาลได้ทำขึ้นพร้อมด้วยบันทึกประกอบ ซึ่งแสดงว่าเส้นทางพิพาทเป็นทางเชื่อมโยงระหว่างซอยบางหลวงกับสะพานข้ามคลองหรือคูวัดกัลยาณ์ไปสู่ถนนคอนกรีตในวัดกัลยาณ์ น่าเชื่อว่าโจทก์จำเลยและประชาชนทั่วไปได้ใช้ทางนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางระหว่างบ้านโจทก์ทั้งสองไปสู่คูหรือคลองวัดกัลยาณ์ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนจำเลยซื้อที่นายแจ่มแล้ว ฉะนั้น แม้จะไม่ได้ความว่าผู้ใดอุทิศที่ของตนให้เป็นทางและสะพานสาธารณะโดยตรง คือ โดยพิธีการ ก็ต้องถือว่าเจ้าของที่ดินที่เส้นทางนี้ผ่านได้ยอมอุทิศที่นั้นให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย คือ ไม่มีพิธีการ ซึ่งก็เป็นการอุทิศอย่างหนึ่งตรงตามฟ้องของนางผิวโจทก์ อนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1304(2) ก็บัญญัติแต่เพียงว่า ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ชายตลิ่ง ทางน้ำ และทางหลวง ฯลฯ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการอุทิศโดยชัดแจ้ง ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือบันทึกไว้ในโฉนดจึงจะใช้ได้ เมื่อฟังว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะมานานก่อนจำเลยทำรั้วยกป้ายสงวนสิทธิหรือปิดกั้นทางเดิน การสงวนสิทธิของจำเลยในตอนหลังก็ย่อมไม่มีผลเพราะเมื่อเป็นทางสาธารณะเสียคราวหนึ่งแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305, 1306, 1307 ห้ามมิให้โอนแก่กัน เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดิน และห้ามมิให้ยึดทรัพย์นั้น ฎีกาข้อสามของจำเลยจึงตกไปอีก

สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ว่า ฟ้องของนายเทียบมีประเด็นเรื่องทางสาธารณะที่ศาลจะพิพากษาให้ได้หรือไม่นั้น ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าฟ้องนายเทียบได้บรรยายข้อความซึ่งอ่านได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะอยู่ด้วย จึงมีประเด็นที่ศาลจะพิพากษาให้ได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นอันตกไปเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังที่แสดงมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะคดีทั้งสองเป็นการชอบแล้ว รูปคดีไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นไปได้ จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาจำเลยเสียและให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นฎีกาสำนวนละ 50 บาทแทนโจทก์ทั้งสองคดี

Share