คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นเรื่องราวขอรับมรดกของเจ้ามรดกในที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนรับมรดกที่ดินพิพาทมา ตลอดจนการยอมรับว่าบิดาจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่แทนในนามของเจ้ามรดกตลอดมา เท่ากับเป็นการยอมรับความเป็นเจ้าของของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการครอบครองในลักษณะเป็นปรปักษ์ต่อเจ้ามรดก จำเลยจึงไม่อาจอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
หลังจากเจ้ามรดกตาย มีทายาทอื่นที่มิใช่โจทก์จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมา โฉนดที่ดินพิพาทยังคงมีชื่อเจ้ามรดกถือกรรมสิทธิ์ และจำเลยเพิ่งจะยื่นขอโอนรับมรดก แสดงว่าที่ดินพิพาทยังเป็นของเจ้ามรดกอันจะพึงตกได้แก่บรรดาทายาทซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันมา ในเบื้องต้นต้องถือว่าได้ครอบครองไว้แทนกัน
การที่จำเลยซึ่งมิใช่ทายาทของเจ้ามรดก เอาที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนรับมรดกโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของทายาทที่แท้จริง แล้วจดทะเบียนโอนยกให้แก่ ข. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนรับมรดกและการจดทะเบียนการให้นั้นเสียได้ เพราะจำเลยได้สิทธิมาโดยไม่ชอบ ข. ผู้รับโอนที่ดินจากจำเลยย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินมีโฉนดสองแปลงเป็นของพระภิกษุสุกโดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่น เมื่อพระภิกษุสุกถึงแก่กรรมเมื่อ 9 ปีก่อนฟ้อง โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าว ส่วนของพระภิกษุสุกโดยความยินยอมของนายสอน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปขอรับมรดกที่ดินส่วนของพระภิกษุสุกต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยอ้างว่าเป็นมารดาของพระภิกษุสุกซึ่งเป็นความเท็จ และมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 รับโอนการให้จนได้มีการจดทะเบียนเป็นของจำเลยที่ 2 ทั้งสองแปลงแล้ว ขอให้เพิกถอนการรับมรดกและการโอนระหว่างจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 จึงฟ้องจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นมารดาไม่ได้ พระภิกษุสุกเป็นบุตรจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกที่ดินส่วนของพระภิกษุสุก จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ก่อนพระภิกษุสุกตายและจำเลยที่ 2 ครอบครองต่อมาอีกกว่า 20 ปี หลังจากพระภิกษุสุกตาย สิทธิของโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นของนายผึ่ง นางพริ้ง ต่อมาเป็นมรดกตกทอดแก่พระภิกษุสุก จำเลยที่ 1 เป็นน้องสาวนางพริ้ง จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายสอน พระภิกษุสุกได้มรณภาพโดยไม่มีภริยาและบุตร โจทก์ที่ 2 พระภิกษุสุกและนางสอนเป็นบุตรนายผึ่งนางพริ้ง ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 1 แล้ววินิจฉัยว่า

คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของพระภิกษุสุกโดยการครอบครอง เห็นว่ากรณีที่จำเลยที่ 1 ยื่นเรื่องราวขอรับมรดกของพระภิกษุสุกในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง และจดทะเบียนโอนรับมรดกโฉนดที่ดินพิพาทในเวลาต่อมา ตลอดจนการเสียภาษีบำรุงท้องที่ โดยจำเลยที่ 2 รับว่านายสอนบิดาเป็นผู้เสียภาษีแทนในนามของพระภิกษุสุกตลอดมาจนกระทั่งนายสอนตายเมื่อ 2 ปีมานี้นั้น เท่ากับเป็นการยอมรับความเป็นเจ้าของของพระภิกษุสุก หาใช่ครอบครองในลักษณะเป็นปรปักษ์ต่อพระภิกษุสุกไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และนายสอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พฤติการณ์แห่งคดีการที่นายสอนทำต่อมา และโฉนดที่พิพาทยังคงมีชื่อพระภิกษุสุกถือกรรมสิทธิ์อยู่ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะยื่นขอโอนรับมรดก น่าจะพึงแสดงว่าที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นของพระภิกษุสุกเจ้ามรดกอันจะพึงตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุสุก ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันมา การมีกรรมสิทธิ์รวมในเบื้องต้นต้องถือว่าได้ครอบครองไว้แทนกัน การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่มารดาของพระภิกษุสุก ไม่เป็นทายาท เอาที่พิพาทไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเสียเองโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมจากโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทที่แท้จริงของพระภิกษุสุก ดังนี้ โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนรับมรดกและการจดทะเบียนให้ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นั้นเสียได้เพราะจำเลยที่ 1 ได้สิทธิมาโดยไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 จึงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกและการจดทะเบียนยกให้ในที่พิพาททั้งสองแปลง คำขอนอกจากนี้ให้ยก แต่คำพิพากษานี้ไม่ตัดสิทธิคู่ความในการที่จะไปว่ากล่าวขอแบ่งมรดกรายนี้ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share