คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดทางอาญาตาม มาตรา 44 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 กำหนดไว้ในข้อ 3 (1) และ (2) ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ทำกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ข้อ 2 ตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไปอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ทั้งที่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้โดยชอบ โดยจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ 3 (4) ดังกล่าว ข้อสัญญาข้อนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 44 จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ที่ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งหมายถึงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยนับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ สัญญาข้อ 4 นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เป็นสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยสูงเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระรวมกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน ๕๔๐,๓๓๕.๘๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๓๘๐,๙๙๖.๐๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๘๐,๙๙๖.๐๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๖๙๗ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า จำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี) และยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์กำหนดชำระหนี้คืนภายใน ๖๐ เดือน นับแต่วันทำสัญญาโดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด รายละเอียดปรากฏตามสัญญากู้เงินโดยอัตราดอกเบี้ยที่ระบุเป็นตัวเลขร้อยละ ๑๙ ต่อปีดังกล่าวเป็นอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ในขณะที่ทำสัญญากู้เงินนี้ และจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โดยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ โดยตามประกาศดังกล่าวข้อ ๓ (๑) และ (๒) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในประกาศดังกล่าวข้อ ๓ (๔) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข
ข้อเท็จจริงได้ความตามคำสั่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อของธนาคารโจทก์ว่า ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ ซึ่งจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีร้อยละ ๑๒.๒๕ และสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีร้อยละ ๑๒.๗๕ แต่ตามสัญญากู้เงินข้อ ๒ และข้อ ๓ ระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ทั้งที่ตามสัญญาข้อ ๒ และข้อ ๓ ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยนี้ โดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นเดือนนับแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นการชำระงวดแรกถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป ข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไป อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด และในกรณีนี้โจทก์ยังไม่มีสิทธิทำสัญญาเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขโดยจะเรียกดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยข้อ ๑ (๔) ดังกล่าว ข้อสัญญาในเรื่องดอกเบี้ยนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยส่วนลดดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๔๔ ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยนี้ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และแม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองต่ำกว่าอัตราตามที่ระบุไว้โดยมิชอบตามสัญญานั้นก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ส่วนการคิดดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น ตามสัญญากู้เงินข้อ ๔ ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ระบุในสัญญาข้อ ๒ ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัตผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ และในกรณีที่มีการผิดนัดแล้วเช่นนี้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วในอัตราผิดนัดสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยข้อ ๓ (๔) ดังกล่าวแล้วแต่อย่างใด สัญญาข้อ ๔ นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ และสัญญาข้อนี้ยังเป็นการกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงอันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการผิดสัญญา เท่ากับเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายในลักษณะเป็นดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓
อนึ่ง เมื่อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ หลังจากนั้นไม่ชำระถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ต่อเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ไปแล้ว คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วนับตั้งแต่วันกู้ยืม (วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗) จนถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share