คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ก็ระบุว่า “หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้น ๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวงซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม…” ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548
ฟ้องเคลือบคลุมไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 2,151,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายเงินกรณีให้ออกจากงาน 6 เท่าของเงินเดือน เป็นเงิน 142,200 บาท คืนเงินประกัน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ คืนเงินภาษีกองทุนเลี้ยงชีพที่ยังไม่จ่ายคืน 28,000 บาท แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจเรียกร้องเงินประกัน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่ 1 จำนวน 122,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางสาววนิดา ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทาง มีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ หมายเลขทะเบียน 12-3405 กรุงเทพมหานคร รับผู้โดยสารจากจังหวัดลำพูนแล่นมาตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร ถึงบริเวณหมู่บ้านวิไล ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร รถได้เฉี่ยวชนราวสะพานทางด้านขวาแล้วเสียหลักแล่นลงข้างถนนด้านซ้าย เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ของโจทก์และราวสะพานของกรมทางหลวงได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กรมทางหลวงไปแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ลูกจ้าง และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำโดยประมาทในขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นิติกรของโจทก์ได้รายงานเรื่องตามลำดับชั้นจนสุดท้ายวันที่ 2 มกราคม 2545 รองผู้จัดการฝ่ายอำนวยการของโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ กรณีถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกันก็ระบุว่า “หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวงซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม…” ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่ 1 ปี ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 อีกทั้งการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 อีกด้วย คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะนายจ้างหรือไม่ เพียงใด และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น จะต้องมาจากข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 ว่าได้กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำฟ้องและคำให้การ และผลของคำวินิจฉัยนั้นอาจมีผลให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยในส่วนของฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายเงินกรณีออกจากงานซึ่งศาลแรงงานกลางให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 1 จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือไม่ และต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด แล้ววินิจฉัยในส่วนของฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่รับฟังใหม่ข้างต้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 1 ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือไม่ และต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์จะต้องจ่ายเงินกรณีออกจากงานแก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share