คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ซึ่งค่าธรรมเนียมใช้แทนนอกจากค่าทนายความแล้วยังรวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความอีกฝ่ายต้องเสียไปจากการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นด้วย การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยนำเพียงค่าทนายความใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมิได้จงใจหรือฝ่าฝืนที่จะไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายและมีคำสั่งกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนเท่ากับศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลให้ถูกต้องอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้จึงมิใช่คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยว่า ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนมาวางศาลภายในเวลาที่กำหนดก่อนจึงจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยนั้น จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของจำเลยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้กันที่ดินโฉนดเลขที่ 4197, 4198, 4229, 13955 ตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัยจังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 8470 ตำบลโชคชัย(กระโทก) อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกครึ่งหนึ่งก่อนแล้วให้จำเลยแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสิบเอ็ดส่วนหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามส่วนดังกล่าวข้างต้นและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มาวางศาลภายใน 15 วัน จึงจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนคดีเบื้องต้นว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยได้นำเงินค่าทนายความมาวางต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับอุทธรณ์นั้น และได้ยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,500 บาท ตามทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ 220,000 บาท โดยจำเลยมิได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวมาวางภายในกำหนด 15 วัน จึงจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าวนอกจากค่าทนายความแล้วยังรวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความอีกฝ่ายต้องเสียไปจากการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นนั้นด้วยการที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยนำเพียงค่าทนายความใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมิได้จงใจหรือฝ่าฝืนที่จะไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายนั้น และมีคำสั่งกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติเสียให้ถูกต้องครบถ้วน เท่ากับศาลชั้นต้นได้เปิดโอกาสให้แก่จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนอีกครั้งหนึ่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยว่าจะให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของจำเลยไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้มิใช่เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยว่า ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนมาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก่อนจึงจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยนั้น จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยมาก็เป็นการไม่ชอบ การที่จำเลยฎีกาต่อมา ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของจำเลยได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ฎีกาข้ออื่นของจำเลย ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยได้เช่นกัน”

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 กับยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย

Share