คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าสมคบกันฆ่าบุตรโจทก์ตายโดยไม่เจตนาตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 251 ศาลจึงสั่งนัดไต่สวน ในระหว่างนั้นอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในกรณีเดียวกันนี้ หาว่าจำเลยกับบุตรเจ้าทุกข์วิวาทกันและ บุตรเจ้าทุกข์ตาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 253
จำเลยรับสารภาพตามที่อัยการฟ้อง ศาลจึงพิพากษาในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 253 คดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ สำหรับ คดีที่เจ้าทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องไว้ก่อนนั้น แม้จะได้ยื่นคำฟ้องไว้ก่อน แต่ศาลก็ยังมิได้ไต่สวนและประทับฟ้อง กรณีจึงต้องด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ศาลจึงต้องไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2496)

ย่อยาว

คดีนี้ นางเป้าเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 3 สมคบกันกลุ้มรุมชกต่อยนายติ๊บ บุตรโจทก์ ถูกที่สำคัญทำให้ได้รับบาดเจ็บถึงตายขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 251

โจทก์ยื่นคำฟ้องลงวันที่ 2 มิถุนายน 2495 ศาลสั่งไต่สวนมูลฟ้อง ออกหมายนัดส่งสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบวันไต่สวน ซึ่งกำหนดวันที่ 30 มิถุนายน 2495 เสร็จแล้ว

ครั้นวันที่ 26 มิถุนายน 2495 อัยการจังหวัดลำปาง ยื่นฟ้องจำเลยในกรณีเดียวกันนี้เป็นอีกสำนวนหนึ่ง หาว่าจำเลยทั้งสามฝ่ายหนึ่ง ผู้ตายอีกฝ่ายหนึ่งได้ชกต่อยวิวาททำร้ายร่างกายกันในถนนหลวง และผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 253 จำเลยรับสารภาพ ศาลจังหวัดลำปางพิพากษาเสร็จไปในวันเดียวกันนั้นเองว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 253, 59 จำคุกคนละ 6 เดือน ให้รอการลงอาญาไว้

ดังนี้ศาลจังหวัดลำปางจึงเห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องนี้ แม้จะฟ้องขึ้นมาก่อนอัยการ แต่ศาลก็ยังมิได้ไต่สวนและประทับฟ้อง จึงย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) จึงสั่งไม่รับฟ้องไว้ไต่สวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีเรื่องนี้ ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แม้โจทก์จะฟ้องไว้ก่อนและต่างฐานโทษหนักกว่าก็ดี แต่ก็โดยอาศัยการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)

จึงพิพากษายืน

Share