คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลเชื่อว่า จำเลยได้ถูกบันทึกเสียงไว้ถึง 6 ครั้ง ยากที่จะมีใครมาเลียนเสียงที่จำเลยพูดได้เป็นชั่วโมง ๆ ไม่ใช่ว่าศาลชั้นต้นจะรับฟังลำพังแต่เทปอัดเสียงของจำเลยมาลงโทษจำเลยก็หาไม่ ศาลเชื่อว่าโจทก์ร่วมได้อัดเสียงจำเลยไว้จริง จึงไม่ขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
โจทก์ไม่ทราบว่ามีเอกสาร ล.1ที่จำเลยอ้างเมื่อจำเลยนำมาแสดงชั้นพิจารณา โจทก์เห็นว่าน่าจะเป็นเอกสารปลอม โจทก์ย่อมมีสิทธิขออนุญาตศาลส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ได้ตามมาตรา 125 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยมาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จำเลยอ้างสำนวนความของศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อแสดงว่าจำเลยมีฐานที่อยู่ เพราะจำเลยปฏิบัติงานอยู่ ดังนั้น การที่ศาลจับพิรุธที่ปรากฏได้ในบางสำนวนแล้วไม่เชื่อว่าเป็นความจริงว่าจำเลยได้อยู่ปฏิบัติงานในวันนั้น ๆ ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะชั่งน้ำหนักคำพยาน หาใช่ทำการพิสูจน์โต้แย้งแทนโจทก์ไม่
จำเลยนำเอกสารมาซักค้านพยานโจทก์ก่อนเวลาที่จำเลยอ้างและนำสืบ เพื่อสะดวกแก่การจด ศาลให้จำเลยส่งเอกสารนั้นทั้งหมดโดยศาลจดรายงานไม่ให้โจทก์คัดจนกว่าจำเลยจะอ้าง ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เสียความยุติธรรมแต่อย่างใด
การที่โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มอีก โดยพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้อง ก็ให้เตรียมตัวเข้าคุก ดังนี้ เป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีกจนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้เพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลยเพราะเกรงว่าถ้าไม่ยอมทำตามจะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง ของโจทก์ร่วม เป็นความผิดตามมาตรา 337.
(ปัญหาสุดท้ายพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 19/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางมณีวรรณร่วมกันกระทำผิดหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระ คือ ก. ระหว่างวันที่ ๑ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๒ วันเวลาไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีหนึ่งล้านบาท กล่าวแก่นายทองดีว่าคดีอาญาซึ่งนายทองดีและนายเกษมต่างเป็นโจทก์จำเลยฟ้องกันอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกานั้นจำเลยรับจะจัดการให้เรียบร้อยเพราะจำเลยชอบพอกันนายจรูญฯรองปลัดกระทรวง ฯ นายจรูญฯ ชอบพอสนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหลวงจำรูญฯ ประธานศาลฎีกา จำเลยกับนายจรูญรับจะจัดการให้นายทองดีชนะโดยขอร้องให้หลวงจำรูญฯจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาที่เป็นคนตรงที่สุด คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ หรือผู้พิพากษาที่เป็นคนพูดกันได้ ก็ต้องชนะ โดยนายทองดีไม่ต้องถูกจำคุก ๑ ปีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายเกษมก็จะต้องเข้าคุกไป ถ้าตกลงต้องจ่ายเงินสดให้จำเลย ๕๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือจ่ายเมื่อชนะคดี วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๒ นายทองดีได้มอบเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยรับไป เป็นการตอบแทนในการที่จำเลยและนายจรูญฯจะจูงใจหลวงจำรูญเจ้าพนักงาน โดยวิธีทุจริตผิดกฎหมายและโดยอิทธิพลของตนเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลฎีกากระทำการหรือไม่กระทำการตามหน้าที่ อันเป็นคุณแก่นายทองดี เป็นโทษแก่นายเกษม
ข. ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๒ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๐๓ วันเวลาไม่ปรากฏชัดจำเลยบังอาจเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีเพิ่มขึ้นจากที่เรียกไว้เดิม โดยกล่าวแก่นายทองดีว่าจำเลยและนายจรูญจะทำให้คดีเสร็จไปโดยไม่ให้นายทองดีต้องถูกจำคุก ขอเรียกเพิ่มอีก ๗๐๐,๐๐๐ บาท รวมที่ค้างเป็น ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ตกลงเป็นอันเลิกกันไป นายทองดีกลัว ไม่กล้าปฏิเสธแต่ขอร้องให้จำเลยจัดการแสดงวิธีที่จะให้คดีเสร็จไปได้เอามาดูก่อน ครั้นวันที่ ๑ – ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๓ จำเลยและนางมณีวรรณ ได้ร่วมกระทำผิดบังอาจร่วมกันเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีโดยจำเลยให้นางมณีวรรณนำจดหมายของจำเลยไปให้นายวิโรจน์ทนายความประจำของนายทองดีดู และจดข้อความไว้เพื่อนำไปบอกนายทองดี มีใจความว่า จะให้หลวงจำรูญฯจ่ายสำนวนให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ทำไม่ได้ นายสัญญาจะต้องปฏิเสธไม่รับทำเด็ดขาด จึงจะจัดการจ่ายให้ผู้พิพากษาที่นายทองดีประสงค์ และให้นายทองดีติดต่อกันเอง หรือให้หลวงจำรูญฯ จ่ายให้เอง นายทองดีอยู่เฉย ๆ อย่าวิ่งเต้น รับรองจะให้นายเกษมถูกลงโทษเด็ดขาด จะจัดให้เสร็จใน ๓ เดือน ค่าจัดการ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้คนกลางยึดถือไว้ ให้คอยก่อนมิฉะนั้นจะไม่ปลอดภัย วันที่ ๒๐ – ๒๑ – ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๓ จำเลยบังอาจเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีโดยกล่าวแก่นายทองดีย้ำความดังกล่าวแล้ว แต่นายทองดียังไม่ตกลง คงขอให้ ๕๐๐,๐๐๐ บาทตามที่ตกลงไว้เดิม วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๓ จำเลยได้แจ้งแก่นายวิโรจน์ทนายความประจำตัวนายทองดีให้บอกนายทองดีในลักษณะข่มขืนใจโดยขู่เข็ญว่า นายจรูญฯจะเอาค่าจัดการอีก ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ได้จะคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทที่รับไปแล้ว ขอให้นายทองดีเตรียมตัวเข้าคุก วันที่ ๒๔ เดือนเดียวกัน จำเลยบังอาจข่มขืนใจโดยขู่เข็ญเรียกเงินค่าจัดการดังกล่าวหากไม่ตกลงนายทองดีจะต้องถูกเล่นงาน(หมายความว่าถูกศาลฎีกาจำคุก) นายทองดีกลัว จึงจำต้องยอมรับว่าจะจ่ายให้แก่จำเลย ๗๐๐,๐๐๐ บาท เพิ่มจากเดิม ๒๐๐,๐๐๐ บาท และในวันนั้นเองจำเลยโทรศัพท์มาเรียกเอาเงินจากนายทองดีอีกว่า นายจรูญฯยอมลดค่าจัดการให้เพียง ๙๐๐,๐๐๐ บาท นายทองดีคงยอมให้ ๗๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๐๓ จำเลยและนางมณีวรรณบังอาจข่มขืนใจโดยขู่เข็ญนายทองดี กล่าวคือ ให้นางมณีวรรณนำจดหมายของจำเลยสองฉบับมาให้นายวิโรจน์ดูเพื่อนำข้อความในจดหมายไปบอกนายทองดี มีใจความฉบับหนึ่งว่า นายทองดีจะยอมตกลงให้ค่าจัดการที่นายจรูญเรียกในราคา ๙๐๐,๐๐๐ บาท แต่อาจขอร้องหักคอลด ๘๕๐,๐๐๐ บาท หรือไม่ ถ้าไม่ตกลงนายทองดีจะต้องเข้าคุก เมื่อติดคุกมิใช่ว่าจะไม่เสียเงิน ฯลฯ อีกฉบับหนึ่งมีใจความกล่าวถึงวิธีการจ่ายเงินตามที่ตกลง นายวิโรจน์ได้นำความบอกนายทองดี นายทองดีขอพบนางมณีวรรณแล้วยึดเอาจดหมาย ๒ ฉบับนี้ไว้เป็นพยานหลักฐาน การกระทำของจำเลยและนางมณีวรรณเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนที่จะจูงใจเจ้าพนักงาน โดยวิธีการอันทุจริตผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพล และเป็นการข่มขืนใจ โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของนายทองดี เพื่อให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินแก่จำเลยอีก ๘๕๐,๐๐๐ บาท อันผู้ถูกข่มขืนจำต้องตกลงยอมจะให้เงินแก่จำเลย ๗๐๐,๐๐๐ บาท
ค. การกระทำตามข้อ ก.ข. จำเลยมีเจตนาทำร้ายนายทองดี จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่จิตใจ ทำให้นายทองดีเกิดความหวาดกลัววิตกกังวล เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาเศร้าซึม(Depressive Reaction) ทำให้สมทบกับโรคความดันโลหิตสูง อาจเป็นอัมพาตและหลอดเลือดในสมองแตก อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๓,๒๙๕,๓๓๗
นายทองดีขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามมาตรา ๒๙๕,๓๓๗ ศาลอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ประทุษร้ายนายทองดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นการต่อเนื่องกันในการเรียกร้องเอกเงินค่าจัดการจนได้รับเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทไปผิดตามมาตรา ๑๔๓ ไม่ผิดมาตรา ๓๓๗ ฐานกรรโชก พิพากษาว่าจำเลยผิดมาตรา ๑๔๓ จำคุก ๒ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุก รอการลงโทษ ๕ ปี
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า นอกจากผิดตามมาตรา ๑๔๓ แล้ว ยังผิดฐานกรรโชกตามมาตรา ๓๓๗ อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกสำหรับกระทงนี้ ๒ ปี เมื่อศาลลงโทษจำเลยสองกระทง ซึ่งรวมโทษจำคุกเกินสองปี กรณีไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๕๖ จึงไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา จำเลยได้รับเงินจากนายทองดีโจทก์ร่วมไปจริง ๕๐๐,๐๐๐ บาทดังโจทก์ฟ้อง และจำเลยได้ขู่เข็ญเรียกเอาเงินจากโจทก์ร่วมเพิ่มขึ้นจากที่ได้ตกลงไว้เดิมในลักษณะข่มขืนใจ ขู่เข็ญโจทก์ร่วม ถ้าไม่ให้ก็จะต้องถูกจำคุก ดังโจทก์ฟ้อง โดยเชื่อเป็นความจริงว่าจำเลยได้ถูกบันทึกเสียงไว้ถึง ๖ ครั้ง ยากที่จะมีใครมาเลียนเสียงที่จำเลยพูดได้เป็นชั่วโมง ๆ ทั้งจำเลยไม่มีพยานสืบหักล้างในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่า ศาลชั้นต้นจะรับฟังลำพังแต่เทปอัดเสียงขอจำเลยมาลงโทษจำเลยก็หาไม่ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าโจทก์ร่วมได้อัดเสียงจำเลยไว้จริง จึงไม่ขัดมาตรา ๒๒๖ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อที่จะให้รับฟังว่าจำเลยได้เป็นคนกลางเข้าไกล่เกลี่ยให้นายทองดีกับนายเกษมระงับข้อพิพาทโดยหันเข้าประนีประนอมกันเสีย จำเลยได้อ้างเอกสารชิ้นสำคัญคือเอกสาร ล. ๑ เป็นพยาน ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยไม่เคยเอาต้นฉบับสัญญาประนีประนอมไปแสดงต่อพนักงานสอบสวนเลยทั้งที่อ้างว่าจะนำไปแสดงในวันหลัง แต่แล้วไม่เอาไปแสดง ดังนี้ จะให้โจทก์ทราบมาก่อนได้อย่างไรว่ามีเอกสาร ล. ๑ และเมื่อจำเลยนำมาแสดงในชั้นพิจารณา ซึ่งทางโจทก์ก็เห็นว่าเอกสาร ล. ๑ นี้ น่าจะเป็นเอกสารปลอม โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิขออนุญาตศาลส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ได้ตามมาตรา ๑๒๕ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๑๕ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำนวนความต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างอิงเพื่อจะหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์โดยจะแสดงว่าจำเลยมีฐานที่อยู่ที่ศาลจังหวัดปัตตานีในวันนั้น ๆ เพราะจำเลยอยู่ปฏิบัติงาน แต่ก็ปรากฏว่าสำนวนความต่าง ๆ จำเลยอ้างส่งศาลภายหลังเมื่อสืบพยานโจทก์ร่วมเสร็จไปแล้ว ดังนี้ จะให้โจทก์นำพยานมาสืบหักล้างโต้แย้งได้อย่างไร และที่ศาลชั้นต้นจับพิรุธที่มีปรากฏได้ในบางสำนวนนั้นแล้ว ไม่เชื่อเป็นความจริงว่าจำเลยจะได้อยู่ปฏิบัติงานในวันนั้น ๆ ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะชั่งน้ำหนักพยาน หาใช่ทำการพิสูจน์โต้แย้งแทนโจทก์ดังจำเลยฎีกาไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอาญาบังคับให้จำเลยส่งจดหมายและโทรเลข (เอกสาร ล. ๑๙-๔๐) ซึ่งจำเลยนำมาซักค้านพยานโจทก์ก่อนเวลาที่จำเลยอ้าง และนำสืบ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารดังกล่าว ศาลได้สอบจำเลยว่าจะส่งศาลหรือไม่ จำเลยว่าอาจส่งตอนสืบพยานจำเลย เอกสารดังกล่าวนี้ พยานโจทก์ก็ตอบปฏิเสธเมื่อจำเลยให้พยานดูตอนที่อัยการโจทก์ติงพยานเพื่อความสะดวกแก่การจด ศาลจะให้จำเลยส่งเอกสารที่โจทก์ติงทั้งหมดต่อศาล โดยศาลจดรายงาน ไม่ให้โจทก์คัดจนกว่าจำเลยจะอ้าง ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าไม่เสียความยุติธรรมแต่อย่างใด และที่ศาลสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนเดิมรักษาเทปอันเสียงไว้ ไม่อนุญาตให้จำเลยถ่ายทอดเสียงไว้เป็นสำเนาก็ย่อมชอบด้วยความยุติธรรมแล้ว เพราะศาลไม่มีหน้าที่จำต้องเก็บรักษา ส่วนการที่จำเลยจะขอถ่ายทอดเสียงก็ไม่จำเป็น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๔๓ ชอบแล้ว
ส่วนปัญหาตามมาตรา ๓๓๗ ฟังได้ว่า หลังจากที่นายทองดีโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยได้ตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกโดยจำเลยทั้งพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าโจทก์ร่วมไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ให้เตรียมตัวเข้าคุก การกระทำของจำเลยดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งที่ค้างอยู่เดิมเป็น ๗๐๐,๐๐๐ บาท จนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้เงินเพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมเกรงว่า ถ้าไม่ยอมทำตามโจทก์ร่วม จะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง ของโจทก์ร่วม ตามมาตรา ๓๓๗ พิพากษายืน

Share