คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 และ 47 ไม่มีข้อความยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษมิให้ถือว่าการที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงาน เพราะเหตุม่มีสัญชาติไทยอันเป็นการขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบมิใช่เป็นการเลิกจ้าง เมื่อนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างพ้นจากสภาพความเป็นลูกจ้างเพราะเหตุดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างอันจะต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรจึงมิใช่กิจการทีได้รับยกเว้นมิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ค่าชดเชยเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเมื่อกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความตามหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือ มีกำหนด 10 ปี
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายเมื่อเลิกจ้างเมื่อไม่จ่ายต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องทวงถาม และค่าชดเชยเป็นหนี้เงินเมื่อผิดนัดจึงต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์แต่ละสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยแต่ละสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีสัญชาติไทยจึงต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยไม่คลุมถึงการออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะไม่ได้ทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่ละสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ และ ๔๗ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๗ ข้อ ๑ ซึ่งใช้บังคับขณะที่โจทก์ออกจากงาน ไม่ได้มีข้อความยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษมิให้ถือว่าการที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุไม่มีสัญชาติไทยอันเป็นการขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบมิใช่เป็นการเลิกจ้าง ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานเพราะเหตุขาดคุณสมบัติ คือ ไม่มีสัญชาติไทย ย่อมต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดกิจการไว้ ๒ ประเภท คือ (๑) งานเกษตรกรรมฯ (๒) การจ้างงานมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งประกาศฯ ฉบับนี้ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ค่าชดเชยเป็นสิทธิขอโจทก์ที่จะได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เมื่อกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความตามหลักทั่วไปที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ คือ มีกำหนด ๑๐ ปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องขึ้นได้
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทันทีเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้ย่อมต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้างโดยมิพักต้องทวงถามอีก ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อผิดนัดจึงต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔
พิพากษายืน

Share