แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยนำสินค้าควบคุมจากเขตจังหวัดอื่นเข้ามาในเขตท้องที่จังหวัดที่มีการประกาศเขตควบคุม แม้จะปรากฏว่าสินค้ายังอยู่ในเรือที่ได้บรรทุกมายังไม่มีการขนถ่ายสินค้าก็ตาม การกระทำของจำเลย ก็เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้า และป้องกันการผูกขาดแล้ว จำเลยร่วมกันพยายามนำสินค้า สบู่ ผ้า บุหรี่ และไม้อัดซึ่ง มิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักรและร่วมกันขนย้ายสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมในท้องที่จังหวัดตราดทางทะเลกับร่วมกันขนย้ายผ้าและบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมทางทะเลจากท้องที่จังหวัดอื่นเข้ามาในเขตจังหวัดตราดทางทะเลการกระทำของจำเลยในสินค้าแต่ละประเภทเป็นความผิดกรรมเดียวผิด กฎหมายหลายบท จึงต้องแยกประเภทสินค้าออกเป็นกระทงความผิดแล้ว ลงโทษบทหนัก คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบท มาตราความผิดและกำหนดโทษเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 27 ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จก็ตาม กฎหมายได้กำหนดโทษไว้ เท่ากันคือความผิดครั้งหนึ่งให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายบท พระราชบัญญัติศุลกากรจึงเป็นบทหนักกว่าพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคและของอื่นในภาวะคับขัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 มาตรา 10, 23, 24, 40, 43 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 37, 76 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2456 มาตรา 277, 282 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 27 มิถุนายน2422 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราด ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน ฉบับที่ 104 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 ประกาศจังหวัดตราดลงวันที่ 13 มีนาคม 2524 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นเรือยนต์ส. เรืองสมุทร 5 กับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้คืนเจ้าของ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ให้จำคุกคนละ 2 ปี และปรับรวมกัน 7,275,840 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 10, 23, 24, 40, 43 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488มาตรา 4, 10, 20 จำคุกคนละ 3 เดือนและปรับคนละ 1,000 บาทจำเลย ที่ 1 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 70, 72 ทวิ ฐานมีอาวุธปืนให้จำคุกจำเลยที่ 18 เดือนและปรับ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 6 6 เดือน และปรับ 3,000บาท ฐานพกพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 1 8 เดือน และปรับ 3,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 6 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 7มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 37, 76ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 277, 282พระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477มาตรา 3 ให้ปรับ 1,000 บาท ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนริบสินค้าไม้อัด สบู่ บุหรี่ และผ้าของกลาง ส่วนเรือส.เรืองสมุทร 5 อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน เสื้อ กางเกงรองเท้า กระเป๋าเดินทาง และกล้องถ่ายรูปของกลางให้คืนเจ้าของรอการลงโทษจำคุกของจำเลยทุกคนไว้คนละ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 4และที่ 5 กับข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1, 2, 3, 6, 7 และ 8
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าสำหรับสินค้าผ้าและบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขัน ฉบับที่ 104 พ.ศ.2524 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 84, 90 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขันอันเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ส่วนสินค้าสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 10, 23, 24, 40, 43ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดฉบับที่ 1 พ.ศ. 2522 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัด กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด จังหวัดตราด ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2523ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 ให้ลงโทษฐานพยายามนำสินค้าหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากรอันเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ 4 เดือนและปรับรวม 2 ใน 3ของสี่เท่าราคาสบู่ของกลางเป็นเงิน 123,733.33 บาท จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดฐานพยายามนำสินค้าไม้อัดหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27พระราชบัญญัติ ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84 ให้จำคุกคนละ 2 เดือนและปรับรวม 2 ใน 3 ของสี่เท่าราคาไม้อัดของกลางเป็นเงิน13,333.33 บาท รวม 3 กระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8คนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท กับปรับรวม 137,066.66บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 เป็นเจ้าของสินค้าบุหรี่ ผ้า สบู่ และไม้อัดของกลางซึ่งเป็นสินค้าไม่ต้องห้าม ต้องจำกัด และไม่ต้องเสียภาษีถ้านำออกนอกประเทศ สินค้าดังกล่าวได้ผ่านด่านศุลกากรมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ในขณะบรรทุกลงเรือ ส.เรืองสมุทร 5ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าชายฝั่งสถานีปลายทางที่ที่นำสินค้าไปส่งคือเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือ พนักงานศุลกากรด่านมหาชัยได้ออกใบปล่อยสินค้าตามเอกสารหมาย ปจ.1 ตามวันเวลาเกิดเหตุเรือโทไกรสรจันทร์สุวานิชย์ ผู้บังคับการเรือ ต.12 กับพวกได้นำเรือออกตรวจ จับเรือ ส.เรืองสมุทร 5 ยึดบุหรี่ ผ้า สบู่ และไม้อัดดังกล่าวเป็นของกลาง จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นนายท้ายเรือขณะถูกจับ จุดที่จับอยู่ในทะเลห่างจากปลายแหลมเทียนเกาะกูดประมาณ 13 ไมล์ทะเล
ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 พยายามนำสินค้าของกลางซึ่งเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากร ณด่านศุลกากรคลองใหญ่ จังหวัดตราด ออกไปนอกราชอาณาจักรไทยตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีเรือโทไกรสรจันทร์สุวานิชย์ และเรือโทชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ผู้จับกุม จำเลยที่ 1ถึงที่ 7 พร้อมเรือ ส.เรืองสมุทร 5มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ก่อนจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 พยานได้รับโทรเลขจากผู้บังคับหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนว่า เรือ ส.เรืองสมุทร 5จะลักลอบนำสินค้าหนีภาษีไปยังประเทศกัมพูชา เรือโทไกรสรกับพวกจึงนำเรือ ต.12 ลาดตระเวนพบเรือดังกล่าวขณะวิ่งถือเข็ม 090มุ่งหน้าไปยังเกาะกงประเทศกัมพูชา ขณะที่พบอยู่บริเวณเขตแดนไทยกัมพูชา ซึ่งการเดินเรือจากตำบลมหาชัยไปเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องถือเข็ม 170 มิใช่ 090 เพราะเป็นการเดินทางคนละเส้นทางกัน เรือโทไกรสรจึงให้ส่งสัญญาณไฟ ขอให้เรือจำเลยหยุดเพื่อตรวจค้น แต่เรือจำเลยหลบหนีโดยหักเลี้ยวซ้ายหมดและขวาหมดรวม 4 ครั้งจึงยอมให้จับกุม บริเวณที่เรือจำเลยถูกจับกุมไม่มีเรืออื่นนอกจากเรือจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าเรือจำเลยเปิดไฟวิ่งนั้น ปรากฏว่าขณะนั้นคงมีจำเลยที่ 2 คนเดียวเท่านั้นที่ทำหน้าที่ควบคุมเรือ ส่วนจำเลยอื่นต่างนอนหลับจนกระทั่งเรือ ต.12เข้าไปเทียบจึงตื่น จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความเจือสมคำพยานโจทก์ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 2 ดับไฟยอด คดีจึงฟังได้ว่าเรือจำเลยวิ่งดับไฟจริงดังที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยนำสืบว่า เรือ ส.เรืองสมุทร 5เป็นของนายวิถี ให้จำเลยที่ 8 เช่าโดยเช่าครั้งละ 15,000 บาทเพื่อนำสินค้าไปส่งที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สินค้าของจำเลยที่ 8 ผ่านการตรวจสอบจากด่านศุลกากรมหาชัยแล้ว แต่ก่อนที่เรือจำเลยจะออกเดินทางมีเรือเพชรมงคลของนายประสิทธิ์เข้ามาเทียบท่าแจ้งว่าเรือเพชรประเสริฐศักดิ์ 4 เสียอยู่ห่างจากแหลมเทียนเกาะกูดประมาณ 10 ไมล์ทะเล นายประสิทธิ์ จึงขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทางทะเลด้านตะวันออกไปช่วย จำเลยที่ 2 เบิกความว่าได้นำเรือไปช่วยโดยขับเลี้ยวซ้ายและขวาหาเรือที่เสียอยู่ 4-5 รอบ จึงพบเรือที่เสียดังกล่าว แต่นายจีรศักดิ์ซึ่งอยู่ในเรือที่เสียกลับเบิกความไม่ตรงกันว่า เรือที่เสียติดเครื่องได้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2524 จึงนำเรือไปจอดที่เกาะกูด ไม่ปรากฏว่าได้พบเรือ ส.เรืองสมุทร 5 แต่อย่างใดนอกจากนี้ นายธวัช จันทร์ประสิทธิ์ นายสถานีวิทยุประมงสมุทรสาครมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าไม่ได้รับการติดต่อทางวิทยุเรื่องเรือเสียจากเรือเพชรประเสริฐศักดิ์ 4 เลย พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกัน ทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยทุกคนมาก่อนจึงไม่มีเหตุอันสมควร สงสัยว่าพยานจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่นายท้ายเรือดับไฟแล่นเรือมุ่งหน้าไปยังเกาะกง ประเทศกัมพูชา เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือฉายไฟเรือส่งสัญญาณให้หยุดเรือเพื่อขอตรวจค้นแต่เรือจำเลยก็ไม่ยอมหยุดคงแล่นเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหลายครั้งจนหนีไม่พ้นจึงยอมหยุดเรือให้ตรวจค้นและเมื่อเจ้าหน้าที่ถามชื่อเรือ จำเลยก็ตอบบ่ายเบี่ยงเป็นชื่ออื่นทั้งอ้างว่าเหตุที่แล่นเรือออกนอกเส้นทางก็เพื่อจะไปช่วยเหลือเรือเพชรประเสริฐศักดิ์ 4ซึ่งเครื่องเรือเสียจอดอยู่ที่บริเวณแหลมเทียนซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยส่อพิรุธ ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้แล่นเรือออกนอกเส้นทางไปเกาะพงันโดยมุ่งหน้าไปยังเกาะกงประเทศกัมพูชา คดีจึงฟังได้โดยปราศจากข้อระแวงสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 พยายามนำสินค้าบุหรี่ ผ้า สบู่และไม้อัดของกลางซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากร ด่านศุลกากรคลองใหญ่ จังหวัดตราดโดยถูกต้อง ออกไปนอกราชอาณาจักรไทยมุ่งไปประเทศกัมพูชาโดยการใช้ จ้าง วาน ของจำเลยที 8 ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 เป็นความผิดฐานพยายามนำสินค้าซึ่งเป็นของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักรไทยตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ร่วมกันนำสินค้าของกลางซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาในเขตจังหวัดตราดและขนย้ายสินค้าดังกล่าวออกนอกเขตจังหวัดตราดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดตราดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัด กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488และพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยได้บรรทุกสินค้าต้องควบคุมจากจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาในเขตท้องที่ของจังหวัดตราดแล้ว แม้จะปรากฏว่าสินค้ายังอยู่ในเรือที่ได้บรรทุกมายังไม่มีการขนถ่ายสินค้าก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1, 2 และ 8ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราดอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 3 ตามที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 นั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทมาตราความผิดและกำหนดโทษเป็นการแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับการปรับบทลงโทษจำเลยนั้น โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8ฐานร่วมกันพยายามนำสินค้า สบู่ ผ้า บุหรี่ และไม้อัดซึ่งยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักรและฐานขนย้ายสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมในท้องที่จังหวัดตราดทางทะเล กับฐานขนย้ายผ้าและบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมทางทะเลจากท้องที่จังหวัดอื่นเข้ามาในเขตจังหวัดตราดทางทะเล เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ควรพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 แต่ละกระทงความผิดซึ่งได้กระทำต่างกรรมต่างวาระกันไม่จำกัดแยกสินค้าออกเป็นประเภท ศาลชอบที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ทุกกระทงความผิดนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยในสินค้าแต่ละประเภทเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยโดยแยกประเภทสินค้าออกเป็นกระทงความผิดแล้วลงโทษบทหนักนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ในความผิดสำหรับสินค้า ผ้า และบุหรี่อันเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมโดยลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขันโดยอ้างว่าเป็นบทหนักกับปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฐานพยายามขนย้ายสบู่อันเป็นสินค้าควบคุม และปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 8 ฐานพยายามนำสินค้าไม้อัดหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร มาตรา 27 โดยให้ปรับ 2 ใน 3 ของสี่เท่าของราคาสินค้านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ถูกต้องดังที่โจทก์ฎีกาเพราะความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จก็ตามกฎหมายได้กำหนดโทษไว้เท่ากัน คือความผิดครั้งหนึ่งให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับสินค้า ผ้า และบุหรี่อันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในความควบคุม จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 8มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 10, 20 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขันฉบับที่ 104 พ.ศ. 2524 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2496 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 อันเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ6 เดือนและปรับ รวมสี่เท่าของราคาผ้าและบุหรี่ของกลางเป็นเงิน7,070,240 บาท ส่วนสินค้าสบู่อันเป็นสินค้าควบคุมนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27พระราชบัญญัติ ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3พระราชบัญญัติ กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522มาตรา 10, 23, 24, 40, 43 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดจังหวัดตราดฉบับที่ 9 พ.ศ. 2523ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 ให้ลงโทษฐานพยายามนำสินค้าหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรอันเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับรวมสี่เท่าราคาสบู่ของกลางเป็นเงิน 185,600 บาท กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 มีความผิดฐานพยายามนำสินค้าไม้อัดหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84ให้จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับรวมสี่เท่าราคาไม้อัดของกลางเป็นเงิน20,000 บาท รวม 3 กระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 คนละ1 ปี และปรับรวม 7,275,840 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์