คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116-1118/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับรถยนต์ ซึ่งเทศบาลซื้อ ได้ลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุซึ่งมีข้อความว่าคณะกรรมการได้ตรวจรับรถยนต์แล้ว เห็นว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ทั้งราคาก็เป็นไปตามราคาในท้องตลาด และได้ส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างรับไว้เป็นการถูกต้องแล้ว ซึ่งความจริงไม่มีการกระทำดังกล่าวเลย เพราะผู้ขายยังไม่ได้นำรถมาส่งมอบการที่จำเลยยังไม่ได้ตรวจรับและส่งมอบแต่ลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าได้กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการรับรองเท็จอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1)และการที่จำเลยรับรองเป็นหลักฐานว่ารถที่ตรวจรับมอบนี้มีปริมาณคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ทั้งราคาก็เป็นไปตามราคาในท้องตลาด และได้ส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างรับไว้เป็นการถูกต้องแล้วนั้น เป็นการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริง อันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 162(4) ด้วย แม้การรับรองเป็นหลักฐานเช่นนี้ จำเลยจะกระทำไปโดยไม่ทุจริต ไม่เกิดความเสียหายก็เป็นผิดตามมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

คดี ๓ สำนวนนี้ ศาลรวมพิจารณาโดยเรียกนายแพทย์วิทยา ทรัพย์ปรุงเป็นจำเลยที่ ๑ นายลั่น หวังสุข เป็นจำเลยที่ ๒ นายเฉลิม นงนุช เป็นจำเลยที่ ๓ นายสมเกียรติ ภู่ประเสริฐ เป็นจำเลยที่ ๔ ฟ้องมีใจความว่า จำเลยทั้งสี่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ นายยกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสงขลาได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยทั้งสี่กับผู้มีชื่ออื่นเป็นกรรมการตรวจรับรถยนต์ที่เทศบาลสั่งซื้อ มีหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดหาพัสดุหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยทั้งสี่ได้กระทำผิดหลายบทหลายกระทงกล่าวคือ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๓ จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และผู้มีชื่อที่เป็นเจ้าพนักงานดังกล่าวกับในวันเดียวกันแต่ต่างเวลากัน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ได้ร่วมกันทำเอกสารโดยกรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ รายงานผลการตรวจรับรถยนต์ที่เทศบาลสั่งซื้อรับรองเป็นหลักฐานว่าคณะกรรมการได้พร้อมกันตรวจนับรถยนต์ชนิดยี่ห้อฟอร์ดทรานซิท ๑๐๐๐ แบบมินิบัส จำนวน ๑ คัน และรถยนต์บรรทุกขยะมูลฝอยยี่ห้อฟอร์ดจำนวน ๑ คัน ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ซันแลนด์ หาดใหญ่ (สำหรับรถคันแรก) และบริษัทอุตสาหกรรมไทยมอเตอร์ จำกัด (สำหรับรถคันหลัง) ผู้ขายได้นำส่งตามใบสั่งซื้อของเทศบาลเมืองสงขลา เห็นว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ทั้งราคาเป็นไป ตามราคาท้องตลาด และได้ส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างรับไว้เป็นการถูกต้อง อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยไม่ได้ทำการตรวจรับ และไม่มีรถยนต์ดังกล่าวให้ตรวจเลยเพราะห้าง ฯ และบริษัท ฯ ผู้ขายยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์แก่เทศบาลเมืองสงขลาและจำเลยไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างดังข้อความในใบตรวจรับพัสดุทั้งนี้ด้วยเจตนาทุจริต ทำหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อประกอบฎีกาเบิกจ่ายเงินออกจากคลังเทศบาลเมืองสงขลา โดยเสนอผ่านนายกเทศมนตรีสั่งจ่ายแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ได้ใช้อำนาจโดยมิชอบสั่งจ่ายเงินดังกล่าวเสียเองโดยไม่มีหน้าที่แทนตัวนายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่คลังหลงเชื่อจึงจ่ายเงินให้ผู้ขายไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๒, ๘๓, ๙๐, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๗, ๑๓
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๕๑, ๑๕๗ แต่จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ มีความผิดตามมาตรา ๑๖๒(๑) และ (๔) จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ผิดตามมาตรา ๑๖๒(๑) พิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ ให้รอกำหนดโทษไว้ ๑ ปีคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดทุกข้อหา พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ แล้ว และจำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต ร่วมกันทำเอกสารหลักฐานเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายยังเป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๑ และมาตรา ๑๕๗ อีกด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ และ ๑๕๗ ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๗ และ ๑๓ นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โดยวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยคนใดได้ทำการโดยทุจริต ไม่เจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายและใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามมาตรา ๒๑๙แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับรถยนต์ตามคำสั่งของนายกเทศมนตรี จำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วได้ลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุตามเอกสารหมาย จ.๒๔ แผ่นที่ ๒ และ จ.๒๕ แผ่นที่ ๒ ซึ่งข้อความตามเอกสารทั้งสองฉบับมีว่า คณะกรรมการได้ตรวจรับรถยนต์แล้ว เห็นว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องครบถ้วนทั้งราคาก็เป็นไปตามราคาในท้องตลาด และได้ส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างรับไว้เป็นการถูกต้องแล้ว ซึ่งความจริงไม่มีการกระทำดังกล่าวเลย เพราะผู้ขายยังไม่นำรถมาส่งมอบ และคณะกรรมการคือจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ตรวจรับและส่งมอบแต่อย่างใด การที่จำเลยลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าได้กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการรับรองเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๒(๑) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และการที่จำเลยทั้งสี่ได้รับรองเป็นหลักฐานในเอกสารดังกล่าวว่า รถที่ตรวจรับมอบนี้มีปริมาณคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ทั้งราคาก็เป็นไปตามราคาในท้องตลาดและได้ส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่แผนกช่างรับไว้เป็นการถูกต้องแล้วนั้นเป็นการรับรองข้อเท็จจริงในเอกสารนั้นว่าเป็นความจริงตามที่เขียนไว้ซึ่งถ้าไม่มีการรับรองข้อเท็จจริงเช่นว่านี้ ก็ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานสำหรับใช้ประกอบฎีกาเบิกจ่ายเงินจากคลังได้ การรับรองดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๒(๔) แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วยการที่จำเลยรับรองเป็นหลักฐานเช่นว่านี้ แม้จะกระทำไปโดยไม่ทุจริตไม่เกิดความเสียหาย และได้กระทำไปเพื่อประกอบฎีกาเบิกเงินจากคลังให้ทันปีงบประมาณ ก็เป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๒(๑) และ (๔) แล้ว ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามมาตรา ๑๖๒(๑) เท่านั้น ไม่ถูกต้อง เพราะข้อที่อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เข้าใจว่ามีการตรวจรับรถแล้วไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ เนื่องจากตามเอกสารนั้นปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ตรวจรับรถพร้อมกับจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๒(๑) (๔) แห่งประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒(๑) (๔) ให้รอการกำหนดโทษไว้ภายในระยะเวลา ๖ เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีกาพิพากษา นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share