คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พนักงานรถไฟได้รับการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีอีก 1 ขั้นในปีที่เกษียณอายุโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น โดยที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 31 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วบัญญัติไว้ในวรรคสองว่า การเลื่อนเงินเดือนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณนั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับเงินเดือนที่ได้เลื่อน แต่เงินเดือนที่ได้เลื่อนให้ถือเสมือนว่าเป็นเงินเดือนเดิม อัตราเงินเดือนที่ได้เพิ่มขึ้นในวันสุดท้ายที่เกษียณอายุจึงเป็นแต่เพียงสิทธิ ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและจะนำมาคำนวณค่าชดเชยไม่ได้เพราะคำว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย.ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้นมุ่งหมายถึงค่าจ้างครั้งสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริง
การที่จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานประจำ จำเลยทั้งสองให้โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 และวันที่ 1 ตุลาคม 2521 ก่อนออกจากงานโจทก์ทั้งสองได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,630 บาท และ 8,250 บาทตามลำดับกับได้พิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีที่ออกจากงานโดยได้เลื่อนเงินเดือนอีกคนละหนึ่งขั้นเป็นเดือนละ 15,690 บาท และ 8,715 บาทตามลำดับ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอัตราเงินเดือนที่ได้เลื่อนขั้นแล้วเป็นเกณฑ์คำนวณ ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 98,140 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน42,290 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยโดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น คงมีสิทธิได้รับโดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนที่โจทก์ที่ 1 ได้รับเดือนละ 14,630 บาท และโจทก์ที่ 2 ได้รับเดือนละ 8,250 บาท ที่จำเลยจ่ายตอบแทนให้โจทก์ก่อนเลิกจ้างเป็นเกณฑ์คำนวณค่าชดเชย ซึ่งจำเลยได้ตกลงจ่ายให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดจำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

วันพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2522 เดือนละ 14,630 บาท และได้รับการเลื่อนเงินเดือนอีก 1 ขั้น เป็นเดือนละ 15,690 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2522 โจทก์ที่ 2ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2521 เดือนละ 8,250 บาท และได้รับการเลื่อนเงินเดือนอีก 1 ขั้น เป็นเดือนละ 8,715 บาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2521 ตามหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าแรงประจำปีฯ และตามคำสั่งเรื่องให้สำรวจจำนวนพนักงานที่ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์ทั้งสองได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) โดยถืออัตราค่าจ้างเมื่อเลื่อนเงินเดือนแล้วเป็นเกณฑ์คำนวณโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เกี่ยวกับค่าชดเชยจำเลยยอมจ่ายให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2524 โดยถืออัตราค่าจ้างเดือนละ14,630 บาท และ 8,250 บาทตามลำดับเป็นเกณฑ์คำนวณ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับในอัตรานี้

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับจริงก่อนเกษียณอายุ โจทก์เป็นผู้ผิดนัดไม่ยอมรับชำระหนี้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2524 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 87,780 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 49,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งสองออกจากงานเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2524

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำสั่งของจำเลยที่มีการเลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงานในปีที่เกษียณอายุก็โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494 มาตรา 31 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว วรรคสองบัญญัติว่า “การเลื่อนเงินเดือนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณนั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับเงินเดือนที่ได้เลื่อน แต่เงินเดือนที่ได้เลื่อนให้ถือเสมือนว่าเป็นเงินเดือนเดิม” และตามคำสั่งของจำเลยที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนในปีที่เกษียณอายุก็เห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของการรถไฟฯ ที่ต้องเกษียณอายุได้รับการพิจารณาความดีความชอบในการเลื่อนขั้นเงินเดือนเพียงเพื่อประโยชน์ในอันที่จะได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นโดยให้นำเงินที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นแล้วมาเป็นเกณฑ์คำนวณในการจ่ายเงินสงเคราะห์เท่านั้น ขั้นเงินเดือนที่ได้เลื่อนจึงเป็นแต่เพียงสิทธิ ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินจึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้าง คำว่า “ค่าจ้าง”ตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 “หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน” ส่วนพนักงานของจำเลยที่ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุนั้นพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างสำหรับปีงบประมาณถัดไปเงินที่ได้รับหลังจากเกษียณอายุแล้วเป็นเงินสงเคราะห์เป็นการจ่ายตอบแทนความชอบที่ได้ปฏิบัติงานมาจนครบเกษียณอายุ มิใช่จ่ายตอบแทนการทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และไม่ใช่ค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จะนำมาคำนวณค่าชดเชยคำว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วมุ่งหมายถึงค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริง กรณีของโจทก์ที่ถือเอาตัวเลขของอัตราเงินเดือนที่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนแล้วเพื่อคำนวณการจ่ายเงินสงเคราะห์ จึงไม่ใช่ค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จะนำมาคำนวณค่าชดเชย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายต้องถือเอาอัตราเงินเดือนที่รับจริงเมื่อสิ้นปีงบประมาณ

สำหรับดอกเบี้ยของเงินค่าชดเชยนั้น จำเลยได้ปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2524 แล้ว แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับชำระ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ โจทก์ทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2524 เป็นต้นไป โจทก์จะยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 มาปรับคดีนี้หาได้ไม่ เพราะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความระงับหนี้ แต่เป็นเรื่องโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องการผิดนัด คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share