คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกเปรียบเทียบที่โจทก์จำเลยลงชื่อไว้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2517 มีข้อความว่า ให้จำเลยขายที่ดินคืนให้โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี ถ้าพ้นกำหนด 1 ปี (19 มีนาคม 2518) ยังไม่มีการซื้อขายที่ดินคืนก็ให้ยกเลิกข้อตกลง การที่ระบุข้อความในวงเล็บว่า “19 มีนาคม 2518” ไว้ก็ด้วยเจตนาที่จะกำหนดวันสิ้นสุดแห่งระยะเวลา 1 ปี ไว้เป็นที่แน่นอน เป็นข้อยกเว้นโดยนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 จะนำวิธีการกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158, 159 มาใช้บังคับไม่ได้ ต้องถือว่าวันที่ 19 มีนาคม 2518 เป็นวันสิ้นสุดระยะเวาลาที่โจทก์มีสิทธิขอซื้อที่ดินคืน เมื่อโจทก์ขอซื้อคืนในวันที่ 20 มีนาคม 2518 โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะซื้อคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการ ก.ส.ส. ไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ดินคืนให้โจทก์ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๗ โจทก์จำเลยตกลงกันตามคำเปรียบเทียบว่า จำเลยตกลงขายที่ดินคืนให้โจทก์ในราคา ๘,๐๐๐ บาท ภายใน ๑ ปี วันครบกำหนดคือวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๘ โจทก์นำเงิน ๘,๐๐๐ บาทไปชำระให้จำเลยที่อำเภอ แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ไปรับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว แล้วจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามข้อตกลงให้โจทก์ซื้อที่ดินคืนภายใน ๑ ปี มีเงื่อนไขว่าถ้าพ้นกำหนด ๑ ปี (๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘) ถ้ายังไม่มีการซื้อขายให้ยกเลิกข้อตกลง โจทก์นำเงินมาชำระในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๘ ล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามสัญญาโจทก์จำเลยตกลงกันให้ถือเอาวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘ เป็นวันสิ้นสุดแห่งระยะเวลา ๑ ปี จำเลยขอซื้อคืนในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๘ จำเลยจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องขายคืน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ขอซื้อคืนวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๘ ยังอยู่ภายในกำหนดเวลา ๑ ปี โจทก์มีสิทธิ์ซื้อคืนได้ พิพากษากลับบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คระกรรมการ ก.ส.ส.ไกล่เกลี่ย โจทก์จำเลยตกลงยินยอมตามคำเปรียบเทียบของคณะกรรมการ ปรากฏตามบันทึกเปรียบเทียบที่โจทก์จำเลยลงชื่อไว้เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๗ ซึ่งมีข้อความว่า (๑) ให้นายปักชุน ขายที่ดินคืนให้นายทองคำในราคา ๘,๐๐๐ บาท ภายในกำหนด ๑ ปี (๒) ในปีนี้ให้นายทองคำเข้าทำกินในที่ดินได้โดยไม่มีค่าเช่า (๓) ถ้าพ้นกำหนด ๑ ปี (๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘) ถ้ายังไม่มีการซื้อขายที่ดินคืนก็ให้ยกเลิกข้อตกลง โจทก์นำเงินไปขอซื้อที่ดินคืนในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๘
ปัญหามีว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความในบันทึกคำเปรียบเทียบข้อ ๓ ที่ว่า ถ้าพ้นกำหนด ๑ ปี (๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘) ถ้ายังไม่มีการซื้อขายที่ดินคืน ก็ให้ยกเลิกข้อตกลง เมื่ออ่านประกอบกับข้อความในข้อ ๑ ที่กำหนดให้จำเลยขายที่ดินคืนให้โจทก์ภายในกำหนด ๑ ปีแล้ว เห็นได้ว่า การที่ระบุข้อความในวงเล็บว่า “๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘” ต่อท้ายด้วยเจตนาที่จะกำหนดวันสิ้นสุดแห่งระยะเวลา ๑ ปี ให้เป็นที่แน่นอน เพราะหากมีเจตนาเพียงจะถือเอาสิ้นสุดแห่งระยะเวลา ๑ ปี ก็ไม่จำต้องระบุข้อความดังกล่าวไว้อีก ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการคำนวณระยะเวลาผิดพลาดดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จึงเป็นกรณีที่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของกำหนดเวลา ๑ ปีไว้เป็นวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘ โดยนิติกรรมต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖ จะนำวิธีการกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘, ๑๕๙ มาใช้บังคับไม่ได้ ต้องถือว่า วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๘ เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืน ฉะนั้น เมื่อโจทก์นำเงินไปซื้อที่ดินคืนจากจำเลยในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๘ โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะซื้อที่ดินคืน
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share