คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11108/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา 172 173 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม และจำเลยได้กล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ มีผลกระทบถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยจะถอนคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ก็ไม่มีผลให้ความเสียหายของโจทก์ที่มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด จำเลยจึงคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,785,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,020,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 87,480 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อปี 2542 จำเลยเป็นข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน วันที่ 10 เมษายน 2539 จำเลยกับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลท่าข้าม เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2146/2539 ของศาลอาญาธนบุรี กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 โจทก์บุกรุกเข้าไปในสถานพยาบาลคลินิกสิริเวช ลักเงินจำนวน 30,000 บาท หน่วงเหนี่ยวกักขัง และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมาศาลอาญาธนบุรีพิพากษายกฟ้อง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2421/2539 วันที่ 6 พฤษภาคม 2542 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำผิดอาญาเพื่อแกล้งให้บุคคลต้องรับโทษ และร่วมกันเบิกความเท็จ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 3679/2542 ของศาลอาญาธนบุรี ตามสำเนาคำฟ้อง ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 25 มิถุนายน 2542 ก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง 1 วัน คือวันที่ 24 มิถุนายน 2542 จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวก กล่าวหาว่าร่วมกันปลอมหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอกอินฟินิตี้ แมนเนจเม้นท์ ที่ระบุว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนที่ 1 ลงหุ้นด้วยเงินจำนวน 88,000,000 บาท และใช้เอกสารปลอม แล้วจำเลยนำสำเนารายงานประจำวันดังกล่าวไปร้องเรียนต่อผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดอาญา เป็นเหตุให้โจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย จำเลยนำสำเนารายงานประจำวันไปใช้ถามค้านโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีอาญาดังกล่าว หลังจากศาลอาญาธนบุรีไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้ว วันที่ 30 กรกฎาคม 2542 จำเลยแจ้งพนักงานสอบสวนว่าเข้าใจผิดและขอถอนคำร้องทุกข์ตามสำเนาคำให้การ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์สั่งยุติการสอบสวนวินัย พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอก อินฟินิตี้ แมนเนจเม้นท์ และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง เหตุเกิดวันที่ 24 มิถุนายน 2542 โจทก์ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ยังอยู่ในกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า จำเลยต้อง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์ โจทก์ถูกปลดจากราชการ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเผยแพร่ถึงขนาดให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น และจำเลยได้กล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ มีผลกระทบถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยจะถอนคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ก็ไม่มีผลให้ความเสียหายของโจทก์ที่มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด จำเลยจึงคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ภายหลังได้ถอนคำร้องทุกข์มาประกอบการพิจารณา แล้วกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share