คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจ้างแรงงานคือสัญญาซึ่งลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้หน้าที่สำคัญ ของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานคือต้องทำงานให้ แก่นายจ้าง การลงเวลามาทำงานไม่ใช่สาระสำคัญของการ จ้างแรงงาน เพราะเป็นเพียงพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าลูกจ้างจะเข้าทำงาน ให้แก่นายจ้างในวันนั้นเท่านั้น การที่โจทก์มาเซ็นชื่อในสมุดลงเวลา มาทำงานของจำเลยแล้วกลับไปโดยมิได้ปฏิบัติงานใดๆให้แก่นายจ้าง จึงถือว่า โจทก์ขาดงานในวันนั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อโจทก์ ขาดงานก่อนหน้าวันดังกล่าวมาแล้วสองวันโดยมิได้ลาตามระเบียบ และไม่ปรากฏเหตุจำเป็น ซึ่งถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา สองวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรมาแล้วจึงเป็น การละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

จำเลยให้การว่าเดิมโจทก์ทำงานอยู่แผนกขายราชการ ต่อมาปริมาณการขายลดลง จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์ไปทำงานอยู่กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขาดสภาพจากการเป็นนายจ้างโจทก์ ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เอาเวลาทำงานไปทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน จงใจขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ 2 ว่ากล่าวตักเตือนหลายครั้งแล้วโจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 2มีเหตุอันควรเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายค่าชดเชย ทั้งไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การจ้างแรงงานคือสัญญาซึ่งลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ หน้าที่สำคัญของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานคือต้องทำงานให้แก่นายจ้าง การลงเวลาทำงานไม่ใช่สาระสำคัญของการจ้างแรงงาน เพราะเป็นเพียงพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าลูกจ้างจะเข้าทำงานให้แก่นายจ้างในวันนั้นเท่านั้น การที่โจทก์มาเซ็นชื่อในสมุดลงเวลามาทำงานของจำเลยในวันที่ 24 สิงหาคม 2526 แล้วกลับไปโดยมิได้ปฏิบัติงานใด ๆ ให้แก่นายจ้าง จึงถือว่าโจทก์ขาดงานในวันนั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อโจทก์ขาดงานในวันที่ 23และ 24 สิงหาคม 2526 โดยมิได้ลาตามระเบียบและไม่ปรากฏเหตุจำเป็น จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรกรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยด้วย

Share