คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญานั้น พยานหลักฐานที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ต้องเป็นพยานหลักฐานโจทก์ เมื่อจะเอาจำเลยเป็นผู้ต้องหาก็ต้องสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 การที่พนักงานสอบสวนจำเลยเป็นพยานในชั้นแรก จึงเป็นพยานที่มิชอบ จะนำคำให้การของจำเลยที่ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนนั้นมาอ้างพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง ๔ คนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ระหว่างวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ ถึงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๐๑ เวลากลางวันทุกวัน จำเลยที่ ๑,๒,๓ ร่วมกันโดยเจตนาทุจริตทำให้สุญหายไปเสียซึ่งเอกสารต้นฉบับทะเบียนบ้านเลขที่ ๖๙/๖ ซึ่งมีชื่อนางหมุยเตียง แซ่โกว เป็นหัวหน้าครอบครัว แล้วร่วมกันทำทะเบียนบ้านปลอมขึ้นใหม่ โดยเพิ่มเติมชื่อนายซือลี แซ่ตั้ง ลงไปด้วยเพื่อประสงค์จะใช้ทะเบียนบ้านที่จำเลยทำปลอมให้เป็นต้นฉบับที่แท้จริง และมุ่งประสงค์จะให้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่านายซือลี แซ่ตั้ง เป็นผู้อยู่ในบ้านเลขที่ ๖๘/๖ ซึ่งความจริงนายซือลี เป็นคนต่างด้าวเพิ่มเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ทำให้เสียหายแก่รัฐบาลไทยและเทศบาลนครกรุงเทพ
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๐๑ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๔ โดยการร่วมมือกับจำเลยที่ ๑,๒,๓ มีเจตนาทุจริต ทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายซือลี ไปทำให้เกิดการเสียหายแก่รัฐบาลและนายอำเภอพระโขนง
ตามวันเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้ง ๔ ร่วมมือกันกระทำการดังกล่าวโดยเจตนาจะช่วยเหลือนายซือลี คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรไทยชั่วคราวได้อยู่อาศัยในประเทศได้ ตลอดไปในฐานะเป็นคนไทย เหตุเกิดที่ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษจำเลย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาเห็นว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ความตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ และ ๔ กระทำผิดตามฟ้องแต่สำหรับจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนเอกสารหมาย จ.๓๐ (ต้นฉบับทะเบียนบ้านที่มีชื่อนายซือลี) จึงไม่มีทางรอดพ้นความผิด ส่วนจำเลยที่ ๑ มีลายเซ็นชื่อปรากฎในช่องนายทะเบียนทั้งในเอกสาร จ.๓๐ และ จ.๑ (ทะเบียนบ้านฉบับนางหมุยเดียงยึดถือ) เรื่องลายเซ็นนี้แม้จำเลยที่ ๓ จะไม่ได้รับว่าลายเซ็นนั้นเป็นของตน แต่จำเลยที่ ๓ เคยให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนยอมรับว่าได้ลงนามไว้จริง ขณะมีการแจ้งย้ายคนออกไปจากบ้านเลขที่ ๖๙/๖ ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะตรวจสอบรายการในเอกสาร จ.๑ กับ จ.๓๐ ตรงกันหรือไม่ แต่จำเลยก็ไม่ตรวจสอบ โดยถี่ถ้วนเป็นการพิรุธอยู่ หากจำเลยไม่เพิกเฉยเสีย ความก็จะปรากฎขึ้นแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงร่วมสมคบในความผิดรายนี้ด้วยโดยไม่ส่งสัย พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุกจำเลยที่ ๒,๓
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๓ นี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานยืนยันอย่างใดว่ากระทำผิดดังฟ้อง + พนักงานสอบสวนมิได้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๓ เพียงแต่สอบสวนในฐานะเป็นพยานโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ ๓ ร่วมกระทำผิดด้วย โดยหยิบยกเอาคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๓ ซึ่งให้การในฐานะพยานโจทก์มาวินิจฉัยลงโทษจำเลย ข้อนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง ในคดีอาญานั้น พยานหลักฐานที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ต้องเป็นพยานหลักฐานโจทก์ ทั้งมีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเห็นพยาน เมื่อจะเอาจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ต้องหาก็ต้องสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ การที่พนักงานสอบสวนอ้างจำเลยที่ ๓ เป็นพยานในชั้นแรก จึงเป็นพยานที่มิชอบ อ้างเป็นพยานพิสูจน์ ว่าจำเลยที่ ๓ มีผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ศาลอุทธรณ์ ฟังคำให้การจำเลยที่ ๓ ที่ให้การเป็นโจทก์ในชั้นสอบสวนไม่ได้ เหตุที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาคำให้การนี้ขึ้นวินิจฉัยเพราะจำเลยที่ ๓ ให้การว่าได้ลงชื่อไว้ในเอกสาร จ.๑ และ จ.๑๐ จริง แต่เมื่อจำเลยที่ ๓ เบิกความแก้คดี จำเลยไม่รับว่าลายมือชื่อช่องนายทะเบียนเป็นลายมือของจำเลยโจทก์ก็ไม่มีพยานพิสูจน์ ในข้อนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้เกี่ยวข้องในการทำเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓๐
ที่ศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๓ เพิกเฉยไม่รายงานเรื่องทะเบียนบ้านไม่ตรงกันเป็นข้อแสดงว่าร่วมมือด้วยกัน ยังไม่หนักแน่นพอ โจทก์ไม่มีพยานแสดงว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำผิด้วย
จึงพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย

Share