แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไม่จ่ายเงินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทเพราะยังไม่แน่ใจว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรเจ้ามรดกหรือไม่ และเพราะมีเหตุทำให้เข้าใจว่าโจทก์ที่ 2 ปิดบังยักย้ายมรดกนั้น ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยจากจำเลย ในจำนวนเงินมรดกที่โจทก์ทั้งสองควรได้รับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรพระยาประดิพัทธภูบาลเจ้ามรดก มีสิทธิได้รับมรดกเป็นจำนวนเงินคนละ 2,201,198 บาท 46 สตางค์ จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งให้อ้างว่าโจทก์ที่ 1 มิใช่บุตรของเจ้ามรดก โจทก์ที่ 2 ปิดบังยักยอกมรดกซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายจึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในเรื่องดอกเบี้ย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่บุตรของเจ้ามรดกโจทก์ที่ 2 ปิดบังยักยอกมรดก ถูกจำกัดมิให้รับมรดก จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยสุจริตและเพื่อประโยชน์ของกองมรดก จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
โจทก์ที่ 1 กู้เงินเจ้ามรดกไป 1,691,750 บาท ยังไม่ชำระ โจทก์ที่ 1 ซื้อทรัพย์สินของกองมรดก 17,295 บาท โจทก์ที่ 2 ซื้อไป 274,737 บาท จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยกู้เงินเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสองไม่ชำระราคาทรัพย์สินมรดก เพราะที่ประชุมทายาทตกลงให้ยังไม่ต้องชำระและไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โดยให้หักจากเงินส่วนที่จะได้รับจากกองมรดกใช้แทน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรเจ้ามรดกและเป็นทายาท โจทก์ที่ 2มิได้ปิดบังยักยอกทรัพย์มรดก จำเลยทั้งสามมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ที่ 1 กู้เงินไปจริง โจทก์ทั้งสองมิได้ผิดนัดชำระค่าซื้อทรัพย์สินจากกองมรดก พิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์คนละ 1 ใน 13 ส่วน ให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานไม่พอฟังว่าโจทก์ที่ 1 กู้เงินเจ้ามรดกและไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยทั้งสามขายที่ดินมรดกและไม่แบ่งให้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องให้จำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินคนละ 824,538 บาท 23 สตางค์
จำเลยทั้งสาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ก็เพราะยังไม่แน่ใจว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรเจ้ามรดกหรือไม่ เนื่องจากปรากฏหลักฐานทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ(เอกสารหมาย ล.3) ว่าบิดาโจทก์ที่ 1 ชื่อเทียน ซึ่งหลักฐานนี้จะถูกต้องตามความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุที่จะทำให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกยับยั้งการจ่ายเงินของกองมรดกไว้ก่อนได้ การที่จำเลยทั้งสามยังมิได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งที่จะให้โจทก์ที่ 1 เกิดความเสียหาย ส่วนการที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 เพราะมีพยานหลักฐานบางอย่างชวนให้เชื่อว่าโจทก์ที่ 1 กู้เงินเจ้ามรดก ทำสัญญากู้ให้ไว้และมีเหตุผลให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกควรเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 อาจนำสัญญากู้ดังกล่าวคืนให้โจทก์ที่ 1 ไปได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามยังไม่ยอมจ่ายบางส่วนจากกองมรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยเข้าใจว่าโจทก์ที่ 2 ปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก จึงมิใช่เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 2 แต่ประการใด การกระทำของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้นจึงหาเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้จำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคนละ 824,583 บาท 23 สตางค์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์