แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้ ลูกหนี้ของจำเลยจะโอนที่ดินขายเพื่อใช้หนี้ให้ จำเลยจึงตกลงให้บุตรจำเลยเป็นผู้ซื้อแสดงว่าจำเลยเจตนายกกรรมสิทธิ์ให้บุตร โจทก์ผู้ชนะคดีจำเลยจะยึดที่ดินซึ่งเป็นของบุตรนั้นมิได้
ย่อยาว
คดีนี้เดิมนายเชาว์โจทก์ฟ้องนายเต็งเคี่ยนจำเลยเรียกเงินค่านายหน้า 5,000 บาท คดีถึงที่สุดชั้นฎีกาพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ คือ ที่ดินและโรงเรือนที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง อ้างว่าเป็นของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา นายเชียงหว่าผู้เยาว์โดยนายเต็งเคี่ยนบิดา (คือจำเลย) ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ขึ้นมาในคดีนี้ว่าที่ดินและโรงเรือนที่โจทก์นำยึดรายนี้เป็นของนายเชียงหว่าผู้ร้องโดยผู้ร้องซื้อมาจากนายอยู่ ปรากฏตามหนังสือสัญญาซื้อขายลงวันที่ 4 เมษายน 2488 และได้จดทะเบียนนิติกรรมต่ออำเภอตามกฎหมายแล้วขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์รายนี้
โจทก์ให้การต่อสู้ว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของนายเต็งเคี่ยนจำเลยหาใช่ของนายเชี่ยงหว่าผู้ร้องไม่ โดยทรัพย์รายนี้จำเลยเป็นผู้ซื้อจากนายอยู่ด้วยเงินของจำเลยเอง หากแต่จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถจะมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้เพราะขัดต่อกฎหมายจำเลยไม่สามารถทำนิติกรรมซื้อทรัพย์รายนี้ในนามของตนเองจึงได้อาศัยชื่อนายเชียงหว่าผู้ร้องผู้เป็นบุตรเป็นผู้ทำการซื้อแทนหาใช่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อเอง หรือจำเลยเป็นผู้ซื้อให้โดยแท้จริงไม่นิติกรรมสัญญาซื้อขายซึ่งมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อจึงเป็นนิติกรรมอำพราง และภายหลังเมื่อซื้อมาแล้ว จำเลยก็แสดงออกโดยเปิดเผยตลอดมาว่าทรัพย์รายนี้เป็นของจำเลยเอง
ศาลชั้นต้นฟังว่าทรัพย์ที่ยึดรายนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยออกเงินลงชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาให้ทรัพย์นั้นเป็นของผู้ร้องโดยเด็ดขาด จึงมีคำสั่งให้ถอนการยึดที่ดินและโรงเรือนที่โจทก์นำยึด คืนให้แก่ผู้ร้องไป
แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยรับโอนทรัพย์ที่พิพาทจากนายอยู่เพื่อตนเอง แต่จำเลยเป็นคนต่างด้าว การจะมีที่ดินจะต้องรับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายก่อน จำเลยจึงได้เอาผู้ร้องรับโอนแทนเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย หาได้ยกทรัพย์ให้ผู้ร้องจริงจังไม่จำเลยยังแสดงเป็นเจ้าของอยู่ จึงพิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังคำแถลง ตรวจปรึกษาแล้ว เรื่องนี้ปรากฏตามเอกสารสัญญาซื้อขาย ซึ่งคู่ความต่างรับรองกันแล้วว่าที่ดินและโรงเรือนพิพาทนี้ นายอยู่ได้ทำหนังสือสัญญาจดทะเบียนต่ออำเภอโอนขายให้ผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2488 ก่อนแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่านายหน้าจากจำเลยเกือบ 1 ปี โดยไม่ปรากฏว่านิติกรรมที่เกิดด้วยกลฉ้อฉลอย่างใด ในเบื้องต้นก็ต้องสันนิษฐานว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินและโรงเรือนรายนี้ในฐานเป็นผู้ซื้อ ที่โจทก์อ้างว่าทรัพย์รายนี้จำเลยเป็นผู้ซื้อเอง หากแต่ขัดข้องเนื่องจากจำเลยเป็นคนต่างด้าว ไม่สามารถซื้อในนามของตนเองได้ จึงอาศัยชื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อแทนนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่ผู้ร้องลงชื่อเป็นผู้ซื้อนั้นในฐานะเป็นผู้แทนจำเลย ตามพฤติการณ์เท่าที่โจทก์สืบมาก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรที่อำพราง กล่าวคือ นายอยู่ต้องการจะโอนขายที่ดินและโรงเรือนรายนี้เพื่อชำระหนี้ให้จำเลย แต่จำเลยเป็นผู้ที่ไม่สามารถจะซื้อที่ดินและโรงเรือนนั้นเป็นสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ของตนได้เนื่องจากเป็นคนต่างด้าว จึงตกลงให้ผู้ร้องผู้เป็นบุตรเป็นผู้ซื้อทรัพย์นี้ไว้แสดงว่าจำเลยเจตนายกสิทธิ หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ร้องผู้เป็นบุตรแล้วมากกว่า ส่วนการที่จำเลยเป็นผู้เสียภาษีที่ดินโรงเรือนสำหรับทรัพย์รายนี้ก็ดีที่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีว่าทรัพย์นี้เป็นของจำเลยซื้อมาก็ดี หรือที่เอาทรัพย์นี้ไปเป็นประกันเงินกู้ก็ดี จำเลยเป็นบิดาผู้ร้องและอยู่ร่วมกันอาจกระทำไปในฐานะเป็นบิดา จะฟังเอาเป็นข้อผูกมัดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์รายนี้อยู่หาได้ไม่ ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้นจึงพิพากษากลับ บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 3 ศาล พร้อมทั้งค่าทนาย 600 บาทแทนผู้ร้อง