แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินตามสัญญาซื้อขายเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินซึ่งโจทก์แพ้คดีจำเลยร่วมมาแล้ว. แม้จำเลยในคดีนี้จะเป็นบุคคลนอกสัญญาซื้อขาย. แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยเป็นสามีผู้ซื้อ. ผลของการที่ผู้ซื้อได้สิทธิในที่ดินแปลงนี้ย่อมทำให้จำเลยได้รับในฐานะสามีผู้ซื้อเป็นเจ้าของร่วมด้วย. เมื่อจำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกัน เท่ากับเป็นการรบกวนสิทธิอย่างหนึ่ง. จำเลยจึงขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3). ซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านประการใด. กรณีทำให้มีผลเกิดขึ้นว่า.จำเลยร่วมต้องรับผิดชอบผูกพันในผลแห่งคดีนี้ด้วยผู้หนึ่ง.ดังนั้นจำเลยร่วมจึงชอบที่จะอ้างสิทธิต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ เป็นข้อต่อสู้โจทก์คดีนี้ได้. ไม่เป็นขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 477 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.
โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงบางข้อแล้วต่างไม่ขอสืบพยาน. โดยจำเลยอ้างสำนวนคดีแพ่งคดีก่อนประกอบ. ดังนั้น การฟังข้อเท็จจริงในเรื่องสิทธิในที่พิพาทก็ต้องฟังตามข้อวินิจฉัยในสำนวนคดีก่อนเป็นหลักการพิจารณาคดี. เมื่อคดีก่อนศาลชี้ขาดว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ที่ ค. ครอบครองทำประโยชน์แล้ว.จำเลยร่วม (ซึ่งต่อมาขายที่พิพาทให้ภริยาจำเลย)เข้าจับจองทับเอา คดีถึงที่สุดแล้ว. เช่นนี้ ในการวินิจฉัยคดีนี้ก็ต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่ศาลชี้ขาดมาแล้ว. โจทก์จึงต้องแพ้คดีจำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสวนยางพาราจำเลยใช้ให้ลูกจ้างจำเลยบุกรุกเข้ากรีดยาง ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารและใช้ค่าเสียหาย 2,385 บาท ฯลฯ จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายทองเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลจึงหมายเรียกนายทองเข้ามา จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าที่ดินเป็นของจำเลย โดยภริยาจำเลยซื้อจากนายทองโดยสุจริต โจทก์กับพวกเคยพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้กับนายทองจำเลยร่วม และคดีถึงที่สุด 3 ครั้ง มีคำพิพากษาว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของจำเลยร่วมตามสำนวนคดีแดงที่ 32/2497,13/2498, 206/2503 จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกัน โจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน ให้ศาลวินิจฉัยคดีไปตามรูปคดีและพยานเอกสารหลักฐานที่มีอยู่แล้วในสำนวนและสำนวนเกี่ยวข้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ดูจากสำนวนทั้งสามดังกล่าวเห็นได้ว่าที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์จำเลยโต้เถียงแย่งสิทธิกันในคดีนี้คือ ที่ดินซึ่งจำเลยร่วมได้จับจองครอบครองเป็นที่แปลงเดียวกันกับที่ของจำเลยร่วม (คดีนี้) ในคดีแพ่งที่ 13/2498 และ 206/2503และฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่พิพาท ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารสัญญาซื้อขายนั้น นางเฟื้อ พ่วงแสงเป็นผู้ซื้อ นายทอง พัฒน์ช่วย เป็นผู้ขาย สิบตำรวจเอกสุทัศน์จำเลยหาใช่ผู้ซื้อไม่ จึงไม่มีสิทธิจะกล่าวอ้างอาศัยสิทธินายทองพัฒน์ช่วย ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า ที่ดินตามสัญญาซื้อขายนี้ เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินซึ่งนายย่องโจทก์ในคดีนี้แพ้ความนายทอง พัฒน์ช่วย มาแล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13/2498 และ 206/2503 แม้ว่าสิบตำรวจเอกสุทัศน์จำเลยในคดีนี้จะเป็นบุคคลภายนอกสัญญาซื้อขายนั้นก็ตามแต่ก็ปรากฏว่าสิบตำรวจเอกสุทัศน์จำเลยเป็นสามีนางเฟื้อ พ่วงแสงที่แปลงนี้ก็ได้ทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมายผลของการที่นางเฟื้อได้สิทธิในที่แปลงนี้ย่อมทำให้สิบตำรวจเอกสุทัศน์ได้รับในฐานะสามีนางเฟื้อเป็นเจ้าของร่วมด้วย ฉะนั้นเมื่อสิบตำรวจเอกสุทัศน์จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกัน เท่ากับเป็นการรบกวนสิทธิอย่างหนึ่งสิบตำรวจเอกสุทัศน์จึงร้องขอให้ศาลเรียกนายทอง พัฒน์ช่วย เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ตามมาตรา 57(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลได้เรียกนายทอง พัฒน์ช่วย เข้ามาเป็นจำเลยร่วมแล้ว โจทก์มิได้คัดค้านประการใด กรณีเป็นเรื่องทำให้มีผลเกิดขึ้นว่า นายทองจำเลยร่วมต้องรับผิดชอบผูกพันในผลแห่งคดีนี้ด้วยผู้หนึ่ง ดังนั้น นายทองพัฒน์ช่วย จึงมีสิทธิจะอ้างสิทธิต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ในคดีนี้ได้ กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นการขัดกับบทบัญญัติมาตรา 477 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประเด็นแห่งคดีนี้มีว่าที่พิพาทเป็นของใคร คดีนี้ เมื่อโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงบางข้อแล้วต่างไม่ขอสืบพยาน โดยจำเลยขออ้างสำนวนคดีแพ่งดังกล่าวแล้วข้างต้นประกอบ ดังนั้น การฟังข้อเท็จจริงในเรื่องสิทธิในที่พิพาทก็ต้องฟังตามข้อวินิจฉัยในสำนวนทั้งสามนั้นมาเป็นหลักการพิจารณาคดีนี้อีกคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13/2498 ศาลชี้ขาดว่า ที่พิพาทหาใช่เป็นที่นายครกครอบครองทำประโยชน์อยู่แล้ว นายทองเข้าจับจองทับเอาไม่คดีถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ ในการวินิจฉัยคดีนี้ต้องยึดถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชี้ขาดมาแล้ว โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลย พิพากษายืน.