คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดย แสดงเจตนาลวงด้วย สมรู้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดย เสน่หาไม่มีค่าตอบแทนและโอนให้หลังจากที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์ ซึ่ง จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องนี้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริต โจทก์จึงยกขึ้นมาต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ดังนี้โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามชื่อโจทก์จำเลยในคดีหลัง
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 987 จำเลยได้เช่าที่ดินบางส่วนของโจทก์เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนจำเลยได้ค้างจ่ายค่าเช่า โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปจึงได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนออกไป การที่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไปทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปพร้อมกับจัดการขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์และชำระค่าเช่าที่ค้าง กับค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยไม่เคยเช่าที่ดินจากโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2492 จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 16 ไร่เศษให้แก่นางนา ฤทธิงาม มารดาของโจทก์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดีในคดีอื่น โดยมีข้อตกลงว่า นางนา ฤทธิงาม จะโอนที่ดินคืนโจทก์แต่ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาถอนนิติกรรมการโอนนี้แล้วตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 30/2498 คดีถึงที่สุด หลังจากนั้นได้ถูกบังคับคดีแบ่งแยกที่ดินให้แก่นางสาวแดงน้อย อาษาดี ไปเป็นเนื้อที่ 5 ไร่2 งาน 20 ตารางวา จำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่เหลืออยู่จำนวน11 ไร่ตลอดมา นางนา ฤทธิงาม ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2524 โดยไม่สุจริตไม่มีค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 987 เนื้อที่ 33 ไร่2 งาน เดิมโจทก์และนายเย็น อาษาดี เป็นเจ้าของร่วมกัน นายเย็นครอบครองด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ โจทก์ครอบครองด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2492 นายรอด แพงสี ยื่นฟ้องโจทก์และนายเย็น ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนเนื้อที่4 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ที่โจทก์ครอบครองอยู่ โจทก์กับนายเย็นและนายรอด ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยยกที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวแดงน้อย อาษาดี เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว ต่อมานายเย็นโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน2493 โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่มีค่าตอบแทนและมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์ในภายหลัง ต่อมานายรอดฟ้องเพิกถอนการโอนนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และให้แบ่งที่ดินให้แก่นางสาวแดงน้อย คดีถึงที่สุดหลังจากมีการบังคับคดีแบ่งแยกที่ดินให้นางสาวแดงน้อยไป 5 ไร่ 2 งาน20 ตารางวา แล้ว โจทก์คงครอบครองที่ดินส่วนที่เหลือ 11 ไร่ตลอดมาโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการโอนโดยไม่สุจริตมิได้เสียค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้และรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 987 เนื้อที่ 33 ไร่2 งาน ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และนิติกรรมสัญญาให้และรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า เดิมโจทก์ขายฝากที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมา จำเลยที่ 1 ให้เงินโจทก์บางส่วนและได้ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 1นิติกรรมการโอนจึงไม่ได้เกิดจากเจตนาลวง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติกรรมการให้ที่สมบูรณ์หาใช่เกิดจากการฉ้อฉลไม่ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 1 ปี
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้และรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 987 ระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2524 เฉพาะส่วนของโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 987 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยชอบ ให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทกับรื้อถอนบ้านและทรัพย์สินออกไปด้วยและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ปีละ 1,000 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ได้ออกไปและรื้อถอนบ้านและทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทให้ยกฟ้องโจทก์เสีย
โจทก์ฎีกา
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์มรณะ ศาลฎีกาอนุญาตให้นายสุวรรณ บุญชิตานนท์ (อาษาดี) เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสืบมารับฟังได้ว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 987ตำบลหนองกะขะ (มาบกระบก) อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีเนื้อที่33 ไร่ 2 งาน ตามเอกสารหมาย จ.1 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสังกับนางมณฑา บิดามารดาของโจทก์และนายเย็น อาษาดีพี่ชายโจทก์ต่อมาได้ตกทอดมาโดยทางมรดกแก่โจทก์และนายเย็นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละกึ่งหนึ่ง โจทก์และนายเย็นได้แบ่งกันครอบครองคนละ16 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2493 นายเย็นได้โอนที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมด และในวันเดียวกันโจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2493 โจทก์ได้ไถ่ถอนที่ดินจากจำเลยที่ 1และในวันเดียวกันได้ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของตนซึ่งเป็นที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยจดทะเบียนนิติกรรมเป็นการยกให้ รายละเอียดปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนในโฉนดเอกสารหมายจ.1 ข้อที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงสมรู้กันหรือไม่ จำเลยมีจำเลยที่ 1เพียงปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์นำที่ดินพิพาทมาขายฝากจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์กู้เงินจากจำเลยที่ 1 ไปอีก 16,000 บาท และมากู้อีก 5,000 บาท ในการกู้ครั้งหลังนี้โจทก์ได้ไถ่ถอนการขายฝากแล้วโอนที่พิพาทชำระหนี้ จำเลยอ้างส่งสัญญากู้คือ เอกสารหมาย ล.3แต่จำเลยมิได้นำพยานที่รู้เห็นในการทำสัญญากู้เข้าเบิกความให้ได้ความว่าโจทก์ได้กู้เงินไปจากจำเลยที่ 1 จริงตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.3 ฝ่ายโจทก์นอกจากโจทก์จะเข้าเบิกความยืนยันว่าไม่เคยกู้เงินจากจำเลยที่ 1 และไม่เคยทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ยังได้นำพระภิกษุแดง พันธุ์เทพ เข้าเบิกความซึ่งตามสัญญากู้ เอกสารหมาย ล.3 แสดงว่าพระภิกษุแดงลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ด้วย พระภิกษุแดงยืนยันว่าไม่ได้เป็นพยานในสัญญากู้ลายเซ็นชื่อในช่องพยานในเอกสารหมาย ล.3 ไม่ใช่ลายเซ็นของตนนอกจากนั้นสัญญากู้เอกสารหมาย ล.3 ลงวันทำสัญญาว่า “วันที่ 1กันยายน พ.ศ. 2493” สัญญากู้ดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ ซึ่งมีการพิมพ์ออกจำหน่ายโดยทั่วไป และด้านหลังของสัญญากู้ ผู้พิมพ์จำหน่ายได้พิมพ์ข้อความบรรทัดสุดท้ายว่า “พิมพ์จำหน่ายที่ บริษัทประชาช่างจำกัด ถนนเยาวราช พระนคร พ.ศ. 2495″ แสดงว่าแบบพิมพ์สัญญากู้เอกสารหมาย ล.3 นี้ พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2495 ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้กู้เงินจากจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน2493 ตามสัญญากู้ เอกสารหมาย ล.3 นั้นรับฟังไม่ได้ โจทก์นำสืบต่อไปว่า การที่โจทก์ขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงเพื่อจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะต้องโอนที่ดินบางส่วนของที่พิพาทให้แก่นางสาวแดงน้อยนั้น นายรอด แพงสี ได้ฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นว่า ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและทำนิติกรรมลวงขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมสัญญาที่โจทก์โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นเป็นโมฆะ โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ต่อสู้คดีศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 รู้ดีว่าโจทก์จะต้องโอนที่ดิน 4 ไร่เศษของที่พิพาทให้แก่นางสาวแดงน้อย แต่คนทั้งสองกลับสมยอมกันทำนิติกรรมสัญญายกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและฉ้อฉล นิติกรรมสัญญายกให้ดังกล่าวจึงเป็นอันไร้ผล ใช้บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย คำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ โจทก์และจำเลยที่ 1เป็นคู่ความในคดี ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวจึงผูกพันคนทั้งสองพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่า ฟังได้ว่าโจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงสมรู้กันจริง นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนและโอนให้หลังจากที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์และนายอำเภอได้เรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 มาไกล่เกลี่ยแล้ว ไม่อาจตกลงกันได้ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ทราบถึงเรื่องนี้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่พิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตดังนั้นโจทก์จึงยกเอานิติกรรมการโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโมฆะนั้นมาต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท…”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้และรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 987 ตำบลหนองกะขะ (มาบกระบก)อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ยกฟ้องของจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรก.

Share