แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยตั้งแต่แรกได้กำหนดกันไว้เสร็จแล้วว่า ระยะ 6 ปีแรกให้ชำระค่าเช่ากันเดือนละ 100 บาท หลังจากนั้นให้ชำระค่าเช่ากันเดือนละ 2,000 บาท การเรียกเอาค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท หลังจากครบระยะ 6 ปีแรกแล้วนั้น ย่อมเรียกไม่ได้ว่าเป็นการขึ้นค่าเช่าตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ เพราะเป็นเรื่องตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่ขณะที่ยอมให้เช่า (อ้างฎีกาที่ 1543/2493)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกที่เช่า มิให้มาเกี่ยวข้องและให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ผิดนัดไม่ได้ชำระรวม ๕๒,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาเช่าห้องพิพาทกันไว้จริง บัดนี้จำเลยได้อยู่ในห้องพิพาทมาครบ ๖ ปี ตามสัญญาเช่านั้นแล้ว และกำลังอยู่ในระยะเวลาหลังจากเช่ามาครบ ๖ ปีตามสัญญาเช่าข้อ ๑๖ ซึ่งกำหนดไว้ว่า จำเลยจะต้องเสียค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าให้โจทก์ในอัตราเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทนี้ คงยืนยันและส่งค่าเช่าให้แก่โจทก์ในอัตราเดิมที่เสียในระหว่าง ๖ ปีแรก คือ เดือนละ ๑๐๐ บาทอยู่ตลอดมา และจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเต็มอย่างเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทนี้มากว่าสองงวดติด ๆ กันแล้ว ปัญหามีว่า โจทก์ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่า ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าและเรียกค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายในอัตราเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทนั้นได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยตั้งแต่แรกได้กำหนดกันไว้เสร็จแล้วว่าระยะ ๖ ปีแรกให้ชำระค่าเช่ากันเดือนละ ๑๐๐ บาท หลังจากนั้นให้ชำระค่าเช่ากันเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท การเรียกเอาค่าเช่าเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทหลังจากครบระยะ ๖ ปีแรกแล้วนั้น ย่อมเรียกไม่ได้ว่าเป็นการขึ้นค่าเช่าตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ เพราะเป็นเรื่องตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่เดิมขณะที่จะยอมให้เช่า โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาได้ตามนั้น เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระตามจำนวนนี้และคงค้างชำระมาเกินสองงวดติด ๆ กัน ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ที่หากว่าจะมีอยู่ ก็ย่อมหมดไปเพราะเหตุจากการติดค้างค่าเช่านั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาขอให้ขับไล่และเรียกค่าเช่าค่าเสียหายเดือนละ ๒,๐๐๐ บาทที่ติดค้างกันในตอนหลังนี้ได้ ทั้งนี้ โดยนัยฎีกาที่ ๑๕๔๓/๒๔๙๓
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น